วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตัวตลกหนังตะลุง

ตัวตลกหนังตะลุง
รูปตัวตลก คือรูปหนังตะลุงทีเป็นเสมือนตัวแทนของชาวบ้านซึ่งจำลองรูปร่างลักษณะ กิริยาท่าทางและนิสัยมาจากคนจริงในสังคมภาคใต้ หนังตะลุงคณะหนึ่งๆ จะมีตัวตลกประมาณ 8 -15 ตัว แต่ละตัวมีรูปร่างและนิสัยแตกต่างกัน แต่ทุกตัวจะพูดภาษาถิ่น มีลีลาการพูดสุ้มเสียงแตกต่างกัน เมื่อเป็นตัวตลกตัวเดียวกันไม่ว่าคณะใดจะนำไปใช้จะต้องรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวตลกนั้นๆ ให้เป็นแบบเดียวกันหมด คนเชิดต้องศึกษาและฝึกเชิดแต่ละตัวให้เกิดความช่ำชองถูกต้องตามแบบฉบับจะผิดเพี้ยนไปไม่ได้ ดังนั้น "ยอดทอง" ของหนังตะลุงทุกคณะจะต้องแกะให้รูปร่างหน้าตาเหมือนกัน มีขนาดใกล้เคียงกัน ผู้เชิดทุกคณะต้องฝึกเลียนเสียงยอดทองให้มีสำเนียงเป็นอย่างเดียวกันมีนิสัยตามที่เคยมีมาทุกประการ นายหนังตะลุงจึงต้องสวมวิญญาณของตัวตลกตัวนั้นๆ ตามแบบฉบับที่นิยมสืบถ่ายกันมาอย่างแนบเนียนและครบถ้วน

บทบาทของตัวตลก
ตัวตลกของหนังตะลุง มีบทบาทสำคัญเท่าที่ปรากฏอยู่ดังนี้
  1. ให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ขัน เนื่องจากหนังตะลุงต้องแสดงกลางคืน ใช้เวลาแสดงนาน และมักแสดงไปจนกระทั่งสว่าง ดังนั้นการที่จะต้องคอยกระตุ้นไม่ให้ผู้ชมง่วงหลับจึงเป็นเรื่องสำคัญ นายหนังจึงต้องคอยแทรกเรื่องตลกให้ได้ฮากันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจำเป็นต้องมีตัวตลกออกมาคอยเรียกเสียงฮาทุกฉากทุกตอน ฉากนั่งเมืองใช้ตัวตลกเป็นอำมาตย์เสนา ฉากเดินป่ามีตัวตลกเป็นผู้ติดตาม ฉากรบใช้ตัวตลกเป็นพลรบคอยยั่วเย้าท้าทาย ฉากรักใช้ตัวตลกคอยหยอกล้อชี้แนะ เป็นต้น โดยมากในแต่ละฉากแต่ละตอนจะมีตัวตลกเกินกว่า 1 ตัว เพื่อจะได้ชวนกันดึงเข้าสู่จุดได้สะดวกยิ่งขึ้น ผู้ชมหนังตะลุงบางคนสนใจการตลกมากกว่าการดำเนินเรื่อง หนังตะลุงที่ตลกเก่ง คือมีแง่มุมตลกได้มาก ตลกเหมาะจังหวะ มีความขำคมอยู่ในที ไม่หยาบโลนมากนัก ให้เป็นที่พอใจของผู้ชมทุกเพศทุกวัย
     
  2. ทำให้นายหนังสามารถแสดงทัศนะหรือวิพากษ์วิจารณ์ขัดแย้งได้สะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากบางสิ่งบางอย่างที่มีผลกระทบต่อสังคม ถูกจำกัดการแสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์แต่เป็นความต้องการของสังคมที่ใคร่ฟังหรือได้ระบายออกกรณีเช่นนี้หนังตะลุงจะใช้วิธีแสดงออกผ่านตัวตลก เป็นทีเล่นทีจริง หยิกแกมหยอกหรือบางครั้งก็โจมตีตรงไปตรงมาอย่างรุนแรงสนองทั้งความต้องการของนายหนังเองและของผู้ชม ทำให้เรื่องหนักกลายเป็นเรื่องเบา กรณีเช่นนี้เคยมีนายหนังตะลุงบางคนถูกจับฟ้องร้องฐานด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านตัวตลก มีการสู้คดีกัน นายหนังตะลุงแก้ว่าตนไม่ได้พูด ตัวตลกเป็นตัวพูดให้นำตัวตลกไปจับขังแทน ในที่สุดนายหนังคณะนั้นถูกสั่งห้ามออกตัวตลกนั้นเป็นเวลา 3 ปี นายหนังก็เชื่อฟังพอครบ 3 ปี ก็นำตัวตลกนั้นมาใช้ตามเดิมและบอกเล่ากับผู้ชมที่หายหน้าไป 3 ปีเต็มเพราะติดคุก
     
  3. ช่วยให้นายหนังได้พักเหนื่อยไปในตัว เพราะเนื่องจากการแสดงหนังตะลุงแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลาต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง การดำเนินเรื่องอย่างเป็นกิจจะลักษณะทำให้นายหนังเหนื่อยมาก เพราะต้องคิดบทกลอนบ้าง คิดบทสนทนาบ้างเรื่องก็ดำเนินไปเร็วเกินควร ต้องใช้เรื่องยาวๆ ยากแก่การผูกเรื่องและคลี่คลายเหตุการณ์จึงใช้วิธีตลกแทรกมากๆ เพราะสามารถจะดึงเรื่องใดเข้ามาสอดแทรกก็ได้ เมื่อเรียกเสียงฮาได้ครั้งหนึ่ง นายหนังก็ได้หยุดพักผ่อนไปในตัว หรือแม้จะตลกต่อเนื่องไปก็ไม่เคร่งเครียดเหมือนกับการดำเนินเรื่อง
     
  4. ทำให้การเชิดหนังตะลุงมีหลากลักษณะและเป็นศิลปะที่คงอยู่ได้ เนื่องจากตัวตลกหนังตะลุงมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน มีน้ำเสียงและนิสัยผิดแปลกกัน ทำให้ลีลาการเชิดการสวมบทบาทมีหลายลักษณะ ผู้ชมจึงไม่เบื่อง่าย แม้ลูกคู่ที่บรรเลงดนตรีก็สนุกตาม และที่สำคัญยิ่งก็คือตัวตลกช่วยให้การแสดงหนังตะลุงเข้าถึงจิตใจประชาชนได้ทุกเพศทุกวัยสามารถดึงเหตุการณ์เฉพาะหน้าหรือสภาพความเป็นจริงของสังคมที่เป็นปัจจุบันมาสอดใส่ในบทบาทของตัวตลกได้ทุกเรื่องทุกช่วงตอน หนังตะลุงจึงเป็นสื่อชาวบานที่ตามสมัยนิยมกันอยู่เสมอ อันเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ช่วยให้ศิลปะการเชิดหนังตะลุงของภาคใต้คงอยู่ได้
การเสนอมุขตลกของหนังตะลุงบางคณะ นอกจากจะใช้ตัวตลกเป็นสื่อ อาจจะใช้ตัวสำคัญ เช่น เจ้าเมืองบางเมืองเป็นตัวตลกก็มี ในกรณีเช่นนี้เรียกกันว่า "ตลกรูปใหญ่ ส่วนการตลกที่ใช้ตลกโดยตรงชาวบ้านเรียกว่า "ตลกรูปกาก" (รูปกาก หมายถึงรูปประกอบเบ็ดเตล็ดไม่ใช่รูปสำคัญ ) หนังตะลุงบางคณะใช้ฤาษีทุศีล (เช่น ฤาษีเซ่ง) หรือใช้ยักษ์บ้าๆ บอๆเป็นตัวตลกก็มี

ตัวตลกตัวหลัก
ตัวตลกตัวหลักของหนังตะลุงภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย คือมีอยู่ทุกคณะ ได้แก่ เท่ง หนูนุ้ย สีแก้ว ยอดทอง ขวัญเมือง ตัวตลกที่นิยมรองมา คือนิยมกันหลายคณะแต่ไม่กว้างขวางเท่าชุดแรก ได้แก่ สะหม้อ อินแก้ว โถ พูน กรั้ง หรือ กลั้ง ปราบ คงรอด จีนจ็อง หนูเนือย (น้องของหนูนุ้ย) เป็นต้น ตัวตลกเหล่านี้เมื่อเรียกกันจริงๆ มักใช้คำว่า "อ้าย" นำหน้า เช่น อ้ายเท่ง อ้ายหนูนุ้ย อ้ายกรั้ง อ้ายคงรอด อ้ายหนูเนือย คำว่าอ้ายในที่นี้มิได้เป็นคำหยาบแต่ประการใด ส่วนตัวตลกของหนังตะลุงฝั่งตะวันตกที่เป็นตัวพิเศษ ซึ่งหนังฝั่งนั้นทุกคณะจะขาดไม่ได้คือ เณรพอน

ศักดิ์ของตัวตลก
รูปหนังตะลุงคณะหนึ่งๆ ซึ่งมีประมาณ 100 - 200 ตัว มีทั้ง ฤาษี มนุษย์ เทวดา ยักษ์มาร และรูปประกอบอื่นๆ หนังตะลุงถือว่ามีศักดิ์ศรีต่างกัน การจัดเก็บซ้อนในแผงเก็บรูปก็ดี การจัดปักหรือแขวนรูปไว้ในโรงขณะแสดงก็ดี ต้องจัดเป็นพวกลำดับให้ถูกตามศักดิ์ เช่น ฤาษีมีศักดิ์สูงสุดต้องเก็บไว้บนสุด เมื่อแขวนรูปเทวดาต้องอยู่เหนือศีรษะ รูปฝ่ายอธรรม เช่น ยักษ์ โจร นางเบียน ต้องปักวางไว้ซ้ายมือของหนัง รูปฝ่ายธรรมะไว้ทางขวา เหล่านี้เป็นต้น สำหรับตัวตลกนั้นถือว่าเป็นรูปที่มีศักดิ์สูงรองจากฤาษี พระอิศวร เทวดาและเจ้าเมืองลงไปแต่มีความสำคัญกว่าตัวพระตัวนางหรือเจ้าเมืองที่ขาดคุณธรรมรูปตลกบางตัวนายหนังถือเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์มีการปิดทองเต็มตัวมีการเคารพบูชาเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ย่อมแตกต่างกันไปตามความศรัทธาของคณะนั้นๆรูปตลกบางตัวแกะสลักขึ้นอย่างมีพิธีรีตอง มีการเลือกวันเริ่มแกะสลัก เลือกลักษณะของหนังที่นำมาตัด บางรูปใช้หนังเท้าจากศพของคนที่นายหนังบูชานับถือมาเป็นส่วนประกอบซึ่งโดยมากมักจะใช้เป็นตัวตลกเอก อาจมีพิธี "เบิกปาก" เพื่อให้มีความศักดิ์สิทธิ์พูดจาเป็นที่พอใจ ผูกใจคนดู เหล่านี้เป็นต้น

ลักษณะเฉพาะของรูปตัวตลก
รูปตัวตลกแต่ละตัวมีวิธีการแกะสลักและประกอบให้แขนทั้ง 2 ข้างสามารถเคลื่อนไหวได้ โดยแบ่งตัดแขนแต่ละข้างเป็น 3 ตอน เป็นช่วงแขนบนตอนหนึ่ง ใช้เชือกเหนียวร้อยต่อกันเพื่อให้แขนเคลื่อนไหวได้ทั้ง 3 ส่วน คล้ายคนจริง โดยจะใช้ไม้กลมเล็กผูกโยงร้อยไว้กับสันหลังมือสำหรับเชิดให้มือเคลื่อนไหว อาจทำท่ายกมือไหว้ ผลัก ถอง ตบตี เอื้อม ฉุด ลาก ได้ทุกประการ นอกจากนั้นปากของรูปตัวตลกก็ทำให้สามารถเคลื่อนไหวริมฝีปากล่างขึ้นลงได้ โดยมีเชือกผูกสไรับชักปากให้อ้าออกและมีคันโยงคล้ายคันเบ็ดขนาดเล็กผูกแนบซ่อนไว้เพื่อดึง จึงสามารถชักปากตัวตลกขึ้นลงได้ตามจังหวะของการพูดทำให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น วิธีพากย์รูปหนังตะลุงโดยการชักปาก"นี้เป็นเหตุให้เกิดสำนวนภาษากล่าวตำหนิคนที่พูดอะไรโดยไม่เป็นตัวของตัวเองว่า " ถูกชักปาก "

รูปตัวตลกบางตัวยังทำให้สามารถเคลื่อนไหวส่วนขาได้อีกด้วย ทำให้สามารถถีบอัดและขึ้นเข่าได้ เป็นที่น่าสังเกตว่ารูปตัวตลกหนังตะลุงส่วนมากเมื่อปล่อยแขนให้ห้อยเหยียดตรงขนานกับลำตัว ปลายนิ้วมือจะยาวเลยระดับเข่าลงมาซึ่งต้องตามตำราลักษณะมหาบุรุษ อาจเป็นโดยบังเอิญหรือเนื่องแต่คติใดยังไม่อาจทราบได้รูปตัวตลกทุกตัวสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยภาคใต้ยุคที่ยังไม่สวมเสื้อ เป็นอย่างดี ทั้งยังสะท้อนถึงความนิยมในการใช้มีดและอาวุธพื้นบ้าน เช่น กริช (ของยอดทอง) อ้ายครกหรืออ้ายคล็อก (ของเท่ง) กรรไกรคีบหมาก (ของหนูนุ้ย) ขวาน (ของทองพูน) เป็นต้น หนังตะลุงยุคเก่ามีผู้ทำหน้าที่เชิดตัวตลกโดยเฉพาะบางคณะมีถึง 2 คน แต่หนังตะลุงในปัจจุบัน นายโรงทำหน้าที่เชิดรูปทุกตัวเพียงคนเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น