วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

รูปภาพมโนราห์

เครื่องแต่งกายมโนราห์

เครื่องแต่งกายของโนรา ประกอบด้วยสิ่งสำคัญต่อ ไปนี้
๑. เทริด(อ่านว่าเซิด) เป็นเครื่องประดับศรีษะของตัวนายโรงหรือโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง ( โบราณไม่นิยม ให้นางรำใช้) ทำเป็นรูปมงกุฎเตี้ย มีกรอบหน้า มีด้ายมงคลประกอบ
๒.เครื่องลูกปัด เครื่องลูกปัดจะร้อยด้วยลูกปัดสีเป็นลายมีดอกดวง ใช้สำหรับสวมลำตัวท่อนบนแทนแขนเสื้อ ประกอบ ด้วยชิ้นสำคัญ ชิ้น คือ
บ่า สำหรับสวมทับบน บ่าซ้าย-ขวา รวม ชิ้น
ปิ้งคอ สำหรับสวม ห้อยคอหน้า-หลัง คล้ายกรองคอ รวม ชิ้น
พานอก ร้อยลูกปัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้พันรอบตัวตรงระดับอก บางถิ่นเรียกว่า "พานโครง" บางถิ่นเรียกว่า "รอบอก "
เครื่องลูกปัดนี้ใช้เหมือนกันทั้งตัวยืน และตัวนาง(รำ) แต่มีช่วงหนึ่งที่ คณะชาตรีในมณฑลศรีธรรมราชใช้อินทรธนู ซับทรวง(ทับทรวง) ปีกเหน่ง แทนเครื่องลูก ปัดสำหรับตัวยืนเครื่อง
. ปีกนกแอ่น หรือ ปีกเหน่ง มักทำด้วยแผ่นเงินเป็นรูปคล้ายนก นางแอ่นกำลังกางปีก ใช้สำหรับ โนราใหญ่หรือตัวยืน เครื่องสวมติดกับสังวาลย์อยู่ที่ระดับเหนือสะเอวด้าน ซ้ายและ ขวา คล้ายตาบทิศของละคร
. ซับ ทรวง หรือทับทรวง หรือตาบ สำหรับสวมห้อยไว้ตรง ทรวงอก นิยมทำด้วยแผ่นเงินเป็นรูปคล้ายขนม เปียกปูนสลักเป็นลวดลาย และอาจฝังเพชรพลอย เป็นดอกดวงหรืออาจร้อยด้วยลูกปัด นิยมใช้ เฉพาะตัวโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง ตัวนางไม่ ใช้ซับทรวง
. ปีก หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่า หางหรือหางหงส์ นิยมทำด้วยเขาควาย หรือโลหะเป็นรูปคล้ายปีกนก คู่ ซ้าย ขวา ประกอบกัน ปลายปีกเชิดงอนขึ้นและผูกรวมกัน ไว้ มีพู่ทำด้วยด้ายสีติดไว้ เหนือปลาย ปีก ใช้ลูกปัดร้อยห้อยเป็นดอกดวงรายตลอด ทั้งข้างซ้าย และขวาให้ดูคล้ายขนของนก ใช้สำหรับสวมคาดทับผ้านุ่งตรงระดับ สะเอว ปล่อย ปลายปีกยื่นไปด้านหลังคล้ายหางกินรี
. ผ้านุ่ง เป็นผ้ายาวสี่เหลี่ยมผืนผ้า นุ่ง ทับชายแล้วรั้งไปเหน็บไว้ข้างหลัง ปล่อยปลาย ชายให้ห้อยลงเช่นเดียวกับหางกระเบนเรียกปลาย ชายที่พับแล้วห้อยลงนี้ว่า "หางหงส์ " (แต่ชาวบ้านส่วน มากเรียกปีกว่า หาง หงส์) การนุ่งผ้าของโนราจะรั้งสูงและ รัดรูปแน่นกว่านุ่งโจงกระเบน
. หน้า เพลา เหน็บเพลา หนับเพลา ก็ว่า คือ สนับเพลา สำหรับ สวมแล้วนุ่งผ้าทับ ปลายขาใช้ลูกปัดร้อย ทับหรือร้อยแล้ว ทาบ ทำเป็นลวดลายดอกดวง เช่น ลายกรวยเชิงรักร้อย
. หน้าผ้า ลักษณะเดียวกับชายไหว ถ้าเป็นของโนราใหญ่ หรือ นายโรงมักทำด้วยผ้าแล้วร้อยลูกปัดทาบ เป็นลวดลาย ทื่ทำเป็นผ้า แถบ คล้ายชาย ไหวล้อมด้วยชายแครงก็มี ถ้าเป็นของนางรำ อาจใช้ผ้าพื้นสีต่าง สำหรับคาดห้อยเช่น เดียวกับชายไหว
. ผ้าห้อย คือ ผ้า สีต่าง ที่คาดห้อยคล้ายชายแครง แต่อาจ มีมากกว่า โดยปกติจะใช้ผ้าที่โปร่งบาง สีสด แต่ละผืนจะเหน็บห้อย ลงทั้งด้าน ซ้าย เละด้านขวาของหน้าผ้า
๑๐. กำไล ต้นแขนและปลายแขน เป็นกำไลสวมต้นแขน เพื่อ ขบรัดกล้ามเนื้อให้ดูทะมัดทะแมงและเพิ่มให้สง่า งามยิ่งขึ้น
๑๑. กำไล กำไลของโนรามัก ทำด้วยทองเหลือง ทำเป็น วงแหวน ใช้สวมมือ และเท้าข้างละหลาย วง เช่นแขนแต่ละ ข้าง อาจสวม -๑๐ วงซ้อนกัน เพื่อเวลา ปรับเปลี่ยนท่าจะได้มีเสียงดังเป็นจังหวะเร้า ใจยิ่งขึ้น
๑๒. เล็บ เป็นเครื่องสวมนิ้ว มือให้โค้งงาม คล้ายเล็บกินนร กินรี ทำด้วยทอง เหลืองหรือเงิน อาจต่อปลายด้วยหวายที่มีลูก ปัดร้อย สอดสีไว้พองาม นิยมสวมมือละ นิ้ว (ยกเว้นหัวแม่มือ)
เครื่องแต่ง กายโนราตามรายการที่ ถึงที่ ๑๒ รวม เรียกว่า "เครื่องใหญ่" เป็นเครื่องแต่งกายของ ตัวยืนเครื่องหรือโนราใหญ่ ส่วนเครื่องแต่งกายของ ตัวนางหรือนางรำ เรียกว่า "เครื่องนาง" จะ ตัดเครื่องแต่งกายออก อย่าง คือ เทริด (ใช้ ผ้าแถบสีสดหรือผ้าเช็ดหน้าคาดรัดแทน) กำไลต้นแขน ซับทรวง และปีก นกแอ่น (ปัจจุบัน นางรำทุกคนนิยมสวมเทริดด้วย)
๑๓. หน้าพราน เป็นหน้ากากสำหรับตัว "พราน" ซึ่ง เป็นตัวตลก ใช้ไม้แกะเป็นรูปใบหน้า ไม่ มีส่วนที่เป็นคาง ทำจมูกยื่นยาว ปลายจมูก งุ้มเล็กน้อย เจาะรูตรงส่วนทื่เป็นตาดำ ให้ผู้สวมมองเห็นได้ถนัด ทาสีแดงทั้งหมด เว้นแต่ส่วนที่เป็น ฟันทำด้วยโลหะสีขาว หรือทาสีขาว หรืออาจเลี่ยมฟัน (มีเฉพาะ ฟัน บน) ส่วนบนต่อจากหน้าผากใช้ขนเป็ด สีขาวติดทาบไว้ต่างผมหงอก
๑๔. หน้าทาสี เป็นหน้ากากของตัวตลกหญิง ทำเป็น หน้าผู้หญิง มักทาสีขาวหรือสีเนื้อ

ประวัติความเป็นมาของมโนราห์

โนรา หรือ มโนห์รา (เขียนเป็น มโนรา หรือ มโนราห์ ก็ได้) เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบ ทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลายใน ภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่อง และบางโอกาสมีบางส่วน แสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม
โนรา เป็นศิลปะพื้นเมืองภาคใต้เรียกว่า โนรา แต่ คำว่า มโนราห์ หรือ มโนห์รา นั้น เป็นคำที่เกิด ขึ้นมาเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการนำเอา เรื่อง พระสุธน-มโนราห์ มาแสดงเป็นละครชาตรี จึงมีคำเรียกว่า มโนราห์ ส่วนกำเนิดของโนรานั้น สันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลจากการ ร่ายรำของอินเดียโบราณก่อนสมัยศรีวิชัย ที่มา จากพ่อค้าชาวอินเดีย สังเกตได้จากเครื่องดนตรีที่ เรียกว่า เบ็ญจสังคีตซึ่งประกอบโหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ ใน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโนรา และท่ารำของโนรา อีกหลายท่าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการร่ายรำของ ทางอินเดีย และเริ่มมีโนราเป็นกิจลักษณะขึ้นเมื่อ ประมาณปี พุทธศักราชที่ ๑๘๒๐ ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยตอนต้น
เชื่อกันว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่ หัวเมืองพัทลุง ปัจจุบันคือ ตำบล บางแก้ว จังหวัด พัทลุง แล้ว แพร่ขยายไปยังหัวเมืองอื่นๆของภาคใต้ จน ไปถึงภาคกลาง และกลายเป็นละครชาตรี และจังหวะ ตะลุง ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ โนรา เกิดขึ้นในราชสำนักของพัทลุงซึ่งมีตำนานเล่า กันมาว่า เจ้าเมืองพัทลุง มีชื่อว่า พระยา สายฟ้าฟาด มีลูกสาวที่ชื่อ ศรีมาลา ซึ่ง มีความสามารถในการร่ายรำมาก ได้เกิดตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน เชื่อกันว่า เป็นท้องกับเทวดา พระยาสายฟ้าฟาดเห็นดัง นั้นก็โกรธมาก สั่งให้นำนางศรีมาลาไป ลอยแพในทะเล ( คือ ทะเลสาปสงขลา) และ แพได้ไปติดที่เกาะใหญ่ นางศรีมาลาก็ ได้ให้กำเนิดลูกชาย โดยตั้งชื่อว่า เทพสิงหล ซึ่งมีนัยความว่า ลูกของเทวดา นางศรีมาลา ได้ฝึกให้เทพสิงหลฝึกร่ายรำ ซึ่งเทพสิงหล ก็สามารถร่ายรำได้สวยงามมาก และร่ายรำ มีชื่อเสียงมากที่เกาะใหญ่ จนรู้ไปถึง หูพระยาสายฟ้าฟาด ซึ่งพระยาสายฟ้า ฟาดก็ยังไม่รู้ว่าหลานตัวเอง ก็ได้ เชิญไปรำในราชสำนัก ฝ่ายนางศรีมาลานั้น ก็น้อยเนื้อต่ำใจเมื่อครั้งที่ถูกลอยแพ ก็บอกกับคนที่มาติดต่อว่า โนราคณะ นี้จะไปรำได้ แต่ต้องปูผ้าขาวตั้ง แต่ริมฝั่งที่ลงจากเรือจนไปถึงตำหนัก พระยาสายฟ้าฟาดก็ตอบตกลง ดังนั้น เทพสิงหลจึงไปรำในราชสำนัก เทพสิงหลรำ ได้สวยงามมาก จนพระยาสายฟ้าฟาดก็ ตกตะลึงในความสวยงาม จึงถอดเครื่องทรงที่ ทรงอยู่ให้กับเทพสิงหล แล้วบอกว่า "เครื่อง แต่งกายกษัตริย์ชุดนี้มอบให้เป็นเครื่องแต่งกาย ของโนรานับแต่นี้เป็นต้นไป" เทพสิงหลจึง บอกว่าแท้จริงแล้วเป็นหลานของพระยาสาย ฟ้าฟาด พระยาสายฟ้าฟาดจึงรับโนราไว้ ในราชสำนักและให้สิทธิแต่งกายเหมือนกษัตริย์ทุก ประการ

ตัวตลกหนังตะลุง

ตัวตลกหนังตะลุง
รูปตัวตลก คือรูปหนังตะลุงทีเป็นเสมือนตัวแทนของชาวบ้านซึ่งจำลองรูปร่างลักษณะ กิริยาท่าทางและนิสัยมาจากคนจริงในสังคมภาคใต้ หนังตะลุงคณะหนึ่งๆ จะมีตัวตลกประมาณ 8 -15 ตัว แต่ละตัวมีรูปร่างและนิสัยแตกต่างกัน แต่ทุกตัวจะพูดภาษาถิ่น มีลีลาการพูดสุ้มเสียงแตกต่างกัน เมื่อเป็นตัวตลกตัวเดียวกันไม่ว่าคณะใดจะนำไปใช้จะต้องรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวตลกนั้นๆ ให้เป็นแบบเดียวกันหมด คนเชิดต้องศึกษาและฝึกเชิดแต่ละตัวให้เกิดความช่ำชองถูกต้องตามแบบฉบับจะผิดเพี้ยนไปไม่ได้ ดังนั้น "ยอดทอง" ของหนังตะลุงทุกคณะจะต้องแกะให้รูปร่างหน้าตาเหมือนกัน มีขนาดใกล้เคียงกัน ผู้เชิดทุกคณะต้องฝึกเลียนเสียงยอดทองให้มีสำเนียงเป็นอย่างเดียวกันมีนิสัยตามที่เคยมีมาทุกประการ นายหนังตะลุงจึงต้องสวมวิญญาณของตัวตลกตัวนั้นๆ ตามแบบฉบับที่นิยมสืบถ่ายกันมาอย่างแนบเนียนและครบถ้วน

บทบาทของตัวตลก
ตัวตลกของหนังตะลุง มีบทบาทสำคัญเท่าที่ปรากฏอยู่ดังนี้
  1. ให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ขัน เนื่องจากหนังตะลุงต้องแสดงกลางคืน ใช้เวลาแสดงนาน และมักแสดงไปจนกระทั่งสว่าง ดังนั้นการที่จะต้องคอยกระตุ้นไม่ให้ผู้ชมง่วงหลับจึงเป็นเรื่องสำคัญ นายหนังจึงต้องคอยแทรกเรื่องตลกให้ได้ฮากันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจำเป็นต้องมีตัวตลกออกมาคอยเรียกเสียงฮาทุกฉากทุกตอน ฉากนั่งเมืองใช้ตัวตลกเป็นอำมาตย์เสนา ฉากเดินป่ามีตัวตลกเป็นผู้ติดตาม ฉากรบใช้ตัวตลกเป็นพลรบคอยยั่วเย้าท้าทาย ฉากรักใช้ตัวตลกคอยหยอกล้อชี้แนะ เป็นต้น โดยมากในแต่ละฉากแต่ละตอนจะมีตัวตลกเกินกว่า 1 ตัว เพื่อจะได้ชวนกันดึงเข้าสู่จุดได้สะดวกยิ่งขึ้น ผู้ชมหนังตะลุงบางคนสนใจการตลกมากกว่าการดำเนินเรื่อง หนังตะลุงที่ตลกเก่ง คือมีแง่มุมตลกได้มาก ตลกเหมาะจังหวะ มีความขำคมอยู่ในที ไม่หยาบโลนมากนัก ให้เป็นที่พอใจของผู้ชมทุกเพศทุกวัย
     
  2. ทำให้นายหนังสามารถแสดงทัศนะหรือวิพากษ์วิจารณ์ขัดแย้งได้สะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากบางสิ่งบางอย่างที่มีผลกระทบต่อสังคม ถูกจำกัดการแสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์แต่เป็นความต้องการของสังคมที่ใคร่ฟังหรือได้ระบายออกกรณีเช่นนี้หนังตะลุงจะใช้วิธีแสดงออกผ่านตัวตลก เป็นทีเล่นทีจริง หยิกแกมหยอกหรือบางครั้งก็โจมตีตรงไปตรงมาอย่างรุนแรงสนองทั้งความต้องการของนายหนังเองและของผู้ชม ทำให้เรื่องหนักกลายเป็นเรื่องเบา กรณีเช่นนี้เคยมีนายหนังตะลุงบางคนถูกจับฟ้องร้องฐานด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านตัวตลก มีการสู้คดีกัน นายหนังตะลุงแก้ว่าตนไม่ได้พูด ตัวตลกเป็นตัวพูดให้นำตัวตลกไปจับขังแทน ในที่สุดนายหนังคณะนั้นถูกสั่งห้ามออกตัวตลกนั้นเป็นเวลา 3 ปี นายหนังก็เชื่อฟังพอครบ 3 ปี ก็นำตัวตลกนั้นมาใช้ตามเดิมและบอกเล่ากับผู้ชมที่หายหน้าไป 3 ปีเต็มเพราะติดคุก
     
  3. ช่วยให้นายหนังได้พักเหนื่อยไปในตัว เพราะเนื่องจากการแสดงหนังตะลุงแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลาต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง การดำเนินเรื่องอย่างเป็นกิจจะลักษณะทำให้นายหนังเหนื่อยมาก เพราะต้องคิดบทกลอนบ้าง คิดบทสนทนาบ้างเรื่องก็ดำเนินไปเร็วเกินควร ต้องใช้เรื่องยาวๆ ยากแก่การผูกเรื่องและคลี่คลายเหตุการณ์จึงใช้วิธีตลกแทรกมากๆ เพราะสามารถจะดึงเรื่องใดเข้ามาสอดแทรกก็ได้ เมื่อเรียกเสียงฮาได้ครั้งหนึ่ง นายหนังก็ได้หยุดพักผ่อนไปในตัว หรือแม้จะตลกต่อเนื่องไปก็ไม่เคร่งเครียดเหมือนกับการดำเนินเรื่อง
     
  4. ทำให้การเชิดหนังตะลุงมีหลากลักษณะและเป็นศิลปะที่คงอยู่ได้ เนื่องจากตัวตลกหนังตะลุงมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน มีน้ำเสียงและนิสัยผิดแปลกกัน ทำให้ลีลาการเชิดการสวมบทบาทมีหลายลักษณะ ผู้ชมจึงไม่เบื่อง่าย แม้ลูกคู่ที่บรรเลงดนตรีก็สนุกตาม และที่สำคัญยิ่งก็คือตัวตลกช่วยให้การแสดงหนังตะลุงเข้าถึงจิตใจประชาชนได้ทุกเพศทุกวัยสามารถดึงเหตุการณ์เฉพาะหน้าหรือสภาพความเป็นจริงของสังคมที่เป็นปัจจุบันมาสอดใส่ในบทบาทของตัวตลกได้ทุกเรื่องทุกช่วงตอน หนังตะลุงจึงเป็นสื่อชาวบานที่ตามสมัยนิยมกันอยู่เสมอ อันเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ช่วยให้ศิลปะการเชิดหนังตะลุงของภาคใต้คงอยู่ได้
การเสนอมุขตลกของหนังตะลุงบางคณะ นอกจากจะใช้ตัวตลกเป็นสื่อ อาจจะใช้ตัวสำคัญ เช่น เจ้าเมืองบางเมืองเป็นตัวตลกก็มี ในกรณีเช่นนี้เรียกกันว่า "ตลกรูปใหญ่ ส่วนการตลกที่ใช้ตลกโดยตรงชาวบ้านเรียกว่า "ตลกรูปกาก" (รูปกาก หมายถึงรูปประกอบเบ็ดเตล็ดไม่ใช่รูปสำคัญ ) หนังตะลุงบางคณะใช้ฤาษีทุศีล (เช่น ฤาษีเซ่ง) หรือใช้ยักษ์บ้าๆ บอๆเป็นตัวตลกก็มี

ตัวตลกตัวหลัก
ตัวตลกตัวหลักของหนังตะลุงภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย คือมีอยู่ทุกคณะ ได้แก่ เท่ง หนูนุ้ย สีแก้ว ยอดทอง ขวัญเมือง ตัวตลกที่นิยมรองมา คือนิยมกันหลายคณะแต่ไม่กว้างขวางเท่าชุดแรก ได้แก่ สะหม้อ อินแก้ว โถ พูน กรั้ง หรือ กลั้ง ปราบ คงรอด จีนจ็อง หนูเนือย (น้องของหนูนุ้ย) เป็นต้น ตัวตลกเหล่านี้เมื่อเรียกกันจริงๆ มักใช้คำว่า "อ้าย" นำหน้า เช่น อ้ายเท่ง อ้ายหนูนุ้ย อ้ายกรั้ง อ้ายคงรอด อ้ายหนูเนือย คำว่าอ้ายในที่นี้มิได้เป็นคำหยาบแต่ประการใด ส่วนตัวตลกของหนังตะลุงฝั่งตะวันตกที่เป็นตัวพิเศษ ซึ่งหนังฝั่งนั้นทุกคณะจะขาดไม่ได้คือ เณรพอน

ศักดิ์ของตัวตลก
รูปหนังตะลุงคณะหนึ่งๆ ซึ่งมีประมาณ 100 - 200 ตัว มีทั้ง ฤาษี มนุษย์ เทวดา ยักษ์มาร และรูปประกอบอื่นๆ หนังตะลุงถือว่ามีศักดิ์ศรีต่างกัน การจัดเก็บซ้อนในแผงเก็บรูปก็ดี การจัดปักหรือแขวนรูปไว้ในโรงขณะแสดงก็ดี ต้องจัดเป็นพวกลำดับให้ถูกตามศักดิ์ เช่น ฤาษีมีศักดิ์สูงสุดต้องเก็บไว้บนสุด เมื่อแขวนรูปเทวดาต้องอยู่เหนือศีรษะ รูปฝ่ายอธรรม เช่น ยักษ์ โจร นางเบียน ต้องปักวางไว้ซ้ายมือของหนัง รูปฝ่ายธรรมะไว้ทางขวา เหล่านี้เป็นต้น สำหรับตัวตลกนั้นถือว่าเป็นรูปที่มีศักดิ์สูงรองจากฤาษี พระอิศวร เทวดาและเจ้าเมืองลงไปแต่มีความสำคัญกว่าตัวพระตัวนางหรือเจ้าเมืองที่ขาดคุณธรรมรูปตลกบางตัวนายหนังถือเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์มีการปิดทองเต็มตัวมีการเคารพบูชาเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ย่อมแตกต่างกันไปตามความศรัทธาของคณะนั้นๆรูปตลกบางตัวแกะสลักขึ้นอย่างมีพิธีรีตอง มีการเลือกวันเริ่มแกะสลัก เลือกลักษณะของหนังที่นำมาตัด บางรูปใช้หนังเท้าจากศพของคนที่นายหนังบูชานับถือมาเป็นส่วนประกอบซึ่งโดยมากมักจะใช้เป็นตัวตลกเอก อาจมีพิธี "เบิกปาก" เพื่อให้มีความศักดิ์สิทธิ์พูดจาเป็นที่พอใจ ผูกใจคนดู เหล่านี้เป็นต้น

ลักษณะเฉพาะของรูปตัวตลก
รูปตัวตลกแต่ละตัวมีวิธีการแกะสลักและประกอบให้แขนทั้ง 2 ข้างสามารถเคลื่อนไหวได้ โดยแบ่งตัดแขนแต่ละข้างเป็น 3 ตอน เป็นช่วงแขนบนตอนหนึ่ง ใช้เชือกเหนียวร้อยต่อกันเพื่อให้แขนเคลื่อนไหวได้ทั้ง 3 ส่วน คล้ายคนจริง โดยจะใช้ไม้กลมเล็กผูกโยงร้อยไว้กับสันหลังมือสำหรับเชิดให้มือเคลื่อนไหว อาจทำท่ายกมือไหว้ ผลัก ถอง ตบตี เอื้อม ฉุด ลาก ได้ทุกประการ นอกจากนั้นปากของรูปตัวตลกก็ทำให้สามารถเคลื่อนไหวริมฝีปากล่างขึ้นลงได้ โดยมีเชือกผูกสไรับชักปากให้อ้าออกและมีคันโยงคล้ายคันเบ็ดขนาดเล็กผูกแนบซ่อนไว้เพื่อดึง จึงสามารถชักปากตัวตลกขึ้นลงได้ตามจังหวะของการพูดทำให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น วิธีพากย์รูปหนังตะลุงโดยการชักปาก"นี้เป็นเหตุให้เกิดสำนวนภาษากล่าวตำหนิคนที่พูดอะไรโดยไม่เป็นตัวของตัวเองว่า " ถูกชักปาก "

รูปตัวตลกบางตัวยังทำให้สามารถเคลื่อนไหวส่วนขาได้อีกด้วย ทำให้สามารถถีบอัดและขึ้นเข่าได้ เป็นที่น่าสังเกตว่ารูปตัวตลกหนังตะลุงส่วนมากเมื่อปล่อยแขนให้ห้อยเหยียดตรงขนานกับลำตัว ปลายนิ้วมือจะยาวเลยระดับเข่าลงมาซึ่งต้องตามตำราลักษณะมหาบุรุษ อาจเป็นโดยบังเอิญหรือเนื่องแต่คติใดยังไม่อาจทราบได้รูปตัวตลกทุกตัวสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยภาคใต้ยุคที่ยังไม่สวมเสื้อ เป็นอย่างดี ทั้งยังสะท้อนถึงความนิยมในการใช้มีดและอาวุธพื้นบ้าน เช่น กริช (ของยอดทอง) อ้ายครกหรืออ้ายคล็อก (ของเท่ง) กรรไกรคีบหมาก (ของหนูนุ้ย) ขวาน (ของทองพูน) เป็นต้น หนังตะลุงยุคเก่ามีผู้ทำหน้าที่เชิดตัวตลกโดยเฉพาะบางคณะมีถึง 2 คน แต่หนังตะลุงในปัจจุบัน นายโรงทำหน้าที่เชิดรูปทุกตัวเพียงคนเดียว

กลอนและลีลากลอน

กลอนและลีลากลอน
กลอนหรือคำประพันธ์ที่หนังตะลุงใช้มีหลายชนิดการขับร้องก็มีทำนองและมีที่ใช้ต่างกัน คือ
  1. ร่ายโบราณ ใช้ในบทตั้งธรณีสาร ตอนออกรูปฤาษี การร้องกลอนออกเสียงพึมพำ มีลีลาเหมือนร่ายมนตร์
     
  2. กาพย์ฉบัง ใช้ในบทออกลิงหัวค่ำ ออกรูปฉะ และออกรูปพระอิศวร การร้องกลอนออกเสียงเต็มเสียงในบทออกลิงหัวค่ำและออกรูปฉะ ส่วนบทออกรูปพระอิศวรจะมีท่วงทำนองแบบเดียวกับออกฤาษี
     
  3. กลอนแปด ใช้ตอนออกลิงหัวค่ำ ออกรูปปรายหน้าบท บทบรรยายความทั่วไป และอาจใช้ในบทพรรณนาความบ้าง กลอนแปดนิยมใช้กันมากในหมู่หนังตะลุงในจังหวัดสงขลา ทำนองการร้องกลอนแบบสงขลาจะค่อนข้างช้า หนังตะลุงทางนครศรีธรรมราชเรียกทำนองการร้องกลอนแบบสงขลาว่า ทำนองสงขลา ส่วนการร้องกลอนของหนังตะลุงทางนครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง จะมีทำนองเร็ว และกระชับกว่า เรียกว่า ทำนองสงขลากลาย
     
  4. กลอนกลบท คือกลอนแปดนั่นเอง แต่มีลักษณะบังคับเพิ่มขึ้น มีหลายชนิด ยึดแบบอย่างจากกลบทสิริวิบุลกิติ (ทางภาคใต้เรียก ยศกิต) ของหลวงศรีปรีชา ( เซ่ง )บ้าง ดัดแปลงขึ้นเองบ้าง แต่ละชนิดเลือกใช้ตามลีลาและบทบาทของตัวละครเช่น กลบทคำตาย นิยมใช้ตอนออกรูปยักษ์ โดยเฉพาะตอนตั้งเมืองเริ่มจับบทยักษ์ และบทพญาครุฑ เช่น

    "ขอสาธกยกเรื่องถึงเมืองยักษ์
    อาณาจักรตั้งติดทิศพายัพ
    ในเมืองหัดทหารชำนาญฝึก
    ได้ปราบศึกสำเร็จไว้เสร็จสรรพ
    ทหารบกทหารเรือเหลือจะนับ
    แม่ทัพร้ายกายชาตินักรบ
    ขึ้นปีใหม่ใครไม่ถือน้ำพิพัฒน
    จะต้องตัดเศียรศอตามข้อกฎ
    แผ่ผดุงรุ่งเรืองกระเดื่องยศ
    ปราบหมดทั่วดีทั้งสิ่ทิศ"
    (หนังปรีชา สงวนศิลป์ จังหวัดนครศรีธรรมราช)

    นอกจากนี้หนังตะลุงอาจจะใช้กลอนกลบทหลายๆ ชนิดแทรกเพียงบางวรรคบางตอนในขณะว่ากลอนแปด ทั้งนี้เพื่อให้ลีลากลอนมีชั้นเชิงชวนฟัง กลบทอื่นๆ ที่หนังทั่วๆ ไปนิยมใช้ เช่น กลบทนาคบริพันธ์ กลบทกบเต้นต่อยหอย กลบทวัวพันหลัก กลบทงูกลืนหาง เป็นต้น
     
  5. กลอนสี่ นิยมใช้ในหมู่หนังตะลุงจังหวัดนครศรีธรรมราช ในบทที่ต้องการให้อารมณ์หรรษา เช่น บทชม (ชมโฉม ชมธรรมชาติ) บทโต้ตอบแบบสนุกๆ ระหว่างตัวละคร บทสอนใจ บทเกี้ยว บทสมห้อง (บทสังวาส) ดังตัวอย่าง

    "เข้าป่าระหง ชมดงไม้ดอก งอกเคียงเรียงรก หลุมนกหว้าหวัง
    ไม้เคี่ยมไม้เคียน ไม้เรียนไม้รัง สาเกหนุนหลัง ไม้ทังไม้ทูง
    ไม้สวยไม้แซะ ไม้แบกไม้เบื่อ ไม้เดื่อลูกดก นกนั่งเป็นฝูง
    ไม้ปริงไม้ปราง ไม้ยางไม้ยูง ไม้แคต้นสูง เห็นฝูงชะนี"
    (หนังทวงศ์ เสียงทอง จังหวัดนครศรีธรรมราช)
     
  6. กลอนลอดโหม่ง ใช้ในบทพรรณนาความโศกเศร้าลีลากลอนจะมีความเนิบช้า เมื่อนายหนังว่ากลอนได้จังหวะหนึ่งๆ ลูกคู่จะตีโหม่งตาม 4 ที โดยตีลูกเสียงแหลมนำ 2 ที ตามด้วยเสียงทุ้ม 2 ที เสียงดัง โหม่งๆ ทุ้มๆ และเมื่อว่ากลอนจบบทหนึ่งจะตีโหม่งเสียงทุ้มยาวเป็นเสียง โหม่งๆ ทุ้มๆๆๆ รูปแบบกลอนจะมีลักษณะคล้ายกับกาพย์ยานี ดังตัวอย่าง

    "ดังไฟสุมอกแม่ แม่แลแลลูกน้อย
    ในดวงตาละห้อยเจ้าไร้สุขทุกข์แสน
    แม่ป่วยไข้ให้อนาถ ประยูรญาติก็ดูแคลน
    มองแม่แม้นกากี ไม่มีดีสักนิดเดียว
    ถึงแม่ชั่วผัวร้าง แม่ไม่ห่างลูกแม่
    จะดูแลประสาจน ไม่หวังคนแลเหลียว
    หายเสียเถิดแก้วตา จากกายาซูบเซียว
    จงโตวันโตคืน ให้แม่ได้ชื่นใจ"

ความเชื่อเกี่ยวกับหนังตะลุง

ความเชื่อเกี่ยวกับหนังตะลุง
นอกจากจะถือว่าหนังตะลุงเป็นเรื่องบันเทิงใจอย่างมหรสพทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ปะปนอยู่ด้วยหลายประการ ซึ่งจะประมวลเป็นข้อๆ ต่อไปนี้คือ
  1. ความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอ ครูหมอคือบูรพาจารย์และบรรพบุรุษที่นายหนังแต่ละคนสืบเชื้อสายมา โดยเชื่อว่าครูเหล่านั้นยังห่วงใจผูกพันกับนายหนัง หากนายหนังบูชาเซ่นพลีตามโอกาสอันควร ครูหมอก็จะให้คุณ แต่หากละเลยก็อาจให้โทษได้ หนังตะลุงแทบทุกคนจึงมักตั้ง ตั้งหิ้ง (ชั้นไม้ขนาดเล็ก แขวนไว้ข้างฝาในที่สูง) ให้เป็นที่สถิตของครู ปักธูปเทียนบูชาและจะมีพิธีไหว้ครูเป็นระยะๆ เช่น 3 ปีต่อครั้ง ปีละครั้งเป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่จะตกลงกับครูไว้อย่างไร
     
  2. ความเชื่อเกี่ยวกับรูปหนัง เชื่อว่ารูปทุกตัวที่ผูกไม้ตับ ผูกมือ เบิกปาก เบิกตา ชุบร่าง แล้วย่อมมีอาถรรพณ์ผู้ใดเล่นด้วยความไม่เคารพย่อมไม่เกิดมงคลแก่ตน อีกประการหนึ่งรูปแต่ละประเภทมีศักดิ์ไม่เท่ากัน การจัดเก็บต้องเป็นระเบียบ เป็นหมวดหมู่ และต้องเอารูปที่มีศักดิ์สูงไว้บนเสมอ

    นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ รูปศักดิ์สิทธิ์ การทำรูปชนิดนี้ต้องเลือกหนังสัตว์ที่ตายไม่ปรกติ เช่น ถูกฟ้าผ่าตาย คลอดลูกตาย และหากเลือกชนิดสัตว์ได้เหมาะกับรูปก็ยิ่งจะทำให้ขลัง เช่น รูปตลกทำด้วยหนังหมี รูปฤาษีทำด้วยหนังเสือ เป็นต้น
     
  3. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเดินทาง ก่อนออกเดินทางต้องทำพิธี ยกเครื่อง โดยประโคมดนตรีอย่างสั้นๆ นายหนังบอกกล่าวขอความสวัสดีจากครูหมอ ขณะเดินทางถ้าผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือวัดวาอารามเก่าๆ จะหยุดประโคมดนตรีถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ที่นั้น เมื่อถึงบ้านเจ้าภาพจะว่าคาถา ทักเจ้าบ้าน (ทักทายเจ้าที่รักษาบ้าน) แล้วประโคมดนตรีสั้นๆ เรียกว่า ตั้งเครื่อง (บางคณะอาจตั้งเครื่องก่อนทำพิธีเบิกโรงก็ได้)
     
  4. ความเชื่ออื่นๆ ซึ่งมักเป็นเรื่องไสยศาสตร์ที่ทำเพื่อป้องกันปัดเป่าเสนียดจัญไร ขอความสวัสดีมีชัย สร้างเมตตามหานิยม เช่น ก่อนขึ้นโรงดินเวียนโรงทำพิธีปัดเสนียด ผูกหนวดราม (เชือกผูกจอ) เส้นสุดท้ายพร้อมว่าคาถาผูกใจคน เป็นต้น
ความเชื่อของหนังตะลุงมีมาก ในอดีตถือว่าไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่นายหนังต้องเรียนรู้ แสดงหนังได้ดีเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องรอบรู้ไสยศาสตร์อย่างดีด้วยจึงจะเอาตัวรอด แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องนี้เท่าใดนัก

องค์ประกอบในการแสดง

องค์ประกอบในการแสดง
คณะหนังตะลุง หนังตะลุงคณะหนึ่งเรียกว่า 1 โรง
ในสมัยก่อนคณะหนังตะลุงมีประมาณ 9-12 คน ประกอบด้วย นายหนัง (ผู้เล่น) 2 คนนั่งทาง หัวหยวก (ส่วนโคนของต้นกล้วยที่ใช้ปักรูปหนัง) สำหรับพากย์รูปพระ รูปนางคนหนึ่งนั่งทางปลายหยวก สำหรับพากย์ยักษ์ ตัวตลกและตัวเบ็ดเตล็ดอื่นๆ นายหนังทั้งสองจึงเรียกกันในสมัยก่อนว่า หัวหยวก-ปลายหยวก มีลูกคู่ครบตามเครื่องดนตรี คือ คนตีทับ 2 คน (ต่อมาใช้คนเดียวตีทับ 2 ลูก) กลอง 1 คน ปี่ 1 คน โหม่ง 1 คน ฉิ่ง 1 คน กรับ 1 คน (ตอนหลังคนตีโหม่ง ฉิ่ง และกรับใช้คนเดียว) และมีหมอทางไสยศาสตร์ประจำโรงอีก 1 คน ซึ่งเรียกว่า หมอกบโรง

ต่อมา เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร เล่าว่าระยะต่อมาหนังบัว (ประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว) แห่งเมืองนครศรีธรรมราชเริ่มคิดเล่นคนเดียว คือทั้งพากย์และเชิดเอง หนังรุ่นหลังจึงเอาอย่างและปฎิบัติสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ชื่อของคณะหนังตะลุงเรียกชื่อตามนายหนังและนิยมต่อด้วย สร้อยนาม ซึ่งตั้งขึ้นในลักษณะต่างๆ กัน เช่น ตั้งตามชื่อตัวตลกที่เด่นสุดของคณะ เช่น หนังอิ่มเท่ง หนังช่วงดิก หนังปล้องไอ้ลูกหมี หนังแสงโถ ฯลฯ ตั้งตามคุณสมบัติที่ดีเด่นของนายหนัง เช่น หนังแคล้วเสียงทอง หนังจูลี่เสียงเสน่ห์ (เสียงดี) หนังขำพันวาว (ตลกเก่ง), ตั้งตามถิ่นอยู่ (มักตั้งในกรณีที่นายหนังมีชื่อตรงกัน) เช่น หนังเอี่ยมเกาะยอ (เกาะยออำเภอเมืองสงขลา) หนังเอี่ยมเสื้อเมือง(บ้านเสื้อเมือง อำเภอสทิงพระ, จังหวัดสงขลา) เป็นต้น
เครื่องดนตรีของหนังตะลุง หนังตะลุงคณะหนึ่งมีเครื่องดนตรีประกอบการเล่นประมาณ 6 อย่าง คือ
  1. กลอง 1 ลูก (เป็นกลองขนาดเล็ก มีหนังหุ้มสองข้าง หน้ากลองเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ 8-10 นิ้ว หัว-ท้ายเล็กกว่าตรงกลางเล็กน้อย กลองมีความยาวประมาณ10-20 นิ้ว ใช้ไม้ตี 2 อัน)
  2. ทับ 2 ลูก (1 คู่) ในสมัยก่อนดนตรีหลักมีทับ 1 คู่สำหรับคุมจังหวะและเดินทำนอง (ทับ ทำด้วยไม้กลึงและเจาะข้างใน ลักษณะคล้ายกลองยาวแต่ส่วนท้ายสั้นกว่าและขนาดย่อมกว่า หุ้มด้วยหนังบางๆ เช่น หนังค่าง) ทับทั้ง 2 ลูกนี้มีขนาดต่างกันเล็กน้อยเพื่อให้ได้เสียงต่างกัน และสมัยก่อนมีขนาดโตกว่าปัจจุบัน
  3. ฉิ่ง 1 คู่
  4. โหม่ง 1 คู่ เสียงสูงลูกหนึ่ง ใช้สำหรับประกอบเสียงขับกลอน (โหม่งทั้งคู่ แขวนตรึงขนานกันอยู่ในรางไม้ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวโหม่งทำด้วยทองเหลืองหรือทองแดง ถ้าหล่อกลมแบบฆ้องขนาดฆ้องวงเรียกว่า "โหม่งหล่อ" ถ้าทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วดุนให้ส่วนที่จะตีสูงกลมขึ้นกลางแผ่นเรียกว่า โหม่งฟาก)
  5. ปี่ 1 เลา
  6. กรับ หรือ แกระ 1 คู่ (ใช้เคาะรางกับโหม่ง) สำหรับประกอบจังหวะ
บางคณะอาจจะมีซออีก 1 สาย เป็นซอด้วงมากกว่าซออู้ เพราะเสียงเข้ากับเสี่ยงปี่ได้สนิทกว่า การบรรเลงดนตรี นอกจากโหมโรง (ชาวใต้เรียกว่าลงโรง) แล้วก็บรรเลงสลับไปตลอดการแสดง มักบรรเลงตอนขับกลอน ตอนเจรจาจะหยุดบรรเลง (อาจจะตีเครื่องให้จังหวะประกอบบ้าง)

เพลงที่ใช้บรรเลง คือ เพลงโหมโรงใช้เพลงทับ ตอนดำเนินเรื่องใช้เพลงทับบ้าง เพลงปี่บ้าง (เพลงทับคือเพลงที่ถือเอาจังหวะทับเป็นเอก เพลงปี่คือเพลงที่ใช้ปี่เดินทำนองเพลงซึ่งโดยมากใช้เพลงไทยเดิม แต่ปัจจุบันใช้เพลงไทยสากลและเพลงสากลก็มี ปัจจุบันหนังตะลุงนิยมนำเครื่องดนตรีสากลเข้ามาประสม เช่น บางคณะใช้กลองดนตรีสากล ไวโอลิน กีตาร์ ออร์แกน แทนเครื่องดนตรีเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง