วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

รูปภาพมโนราห์

เครื่องแต่งกายมโนราห์

เครื่องแต่งกายของโนรา ประกอบด้วยสิ่งสำคัญต่อ ไปนี้
๑. เทริด(อ่านว่าเซิด) เป็นเครื่องประดับศรีษะของตัวนายโรงหรือโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง ( โบราณไม่นิยม ให้นางรำใช้) ทำเป็นรูปมงกุฎเตี้ย มีกรอบหน้า มีด้ายมงคลประกอบ
๒.เครื่องลูกปัด เครื่องลูกปัดจะร้อยด้วยลูกปัดสีเป็นลายมีดอกดวง ใช้สำหรับสวมลำตัวท่อนบนแทนแขนเสื้อ ประกอบ ด้วยชิ้นสำคัญ ชิ้น คือ
บ่า สำหรับสวมทับบน บ่าซ้าย-ขวา รวม ชิ้น
ปิ้งคอ สำหรับสวม ห้อยคอหน้า-หลัง คล้ายกรองคอ รวม ชิ้น
พานอก ร้อยลูกปัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้พันรอบตัวตรงระดับอก บางถิ่นเรียกว่า "พานโครง" บางถิ่นเรียกว่า "รอบอก "
เครื่องลูกปัดนี้ใช้เหมือนกันทั้งตัวยืน และตัวนาง(รำ) แต่มีช่วงหนึ่งที่ คณะชาตรีในมณฑลศรีธรรมราชใช้อินทรธนู ซับทรวง(ทับทรวง) ปีกเหน่ง แทนเครื่องลูก ปัดสำหรับตัวยืนเครื่อง
. ปีกนกแอ่น หรือ ปีกเหน่ง มักทำด้วยแผ่นเงินเป็นรูปคล้ายนก นางแอ่นกำลังกางปีก ใช้สำหรับ โนราใหญ่หรือตัวยืน เครื่องสวมติดกับสังวาลย์อยู่ที่ระดับเหนือสะเอวด้าน ซ้ายและ ขวา คล้ายตาบทิศของละคร
. ซับ ทรวง หรือทับทรวง หรือตาบ สำหรับสวมห้อยไว้ตรง ทรวงอก นิยมทำด้วยแผ่นเงินเป็นรูปคล้ายขนม เปียกปูนสลักเป็นลวดลาย และอาจฝังเพชรพลอย เป็นดอกดวงหรืออาจร้อยด้วยลูกปัด นิยมใช้ เฉพาะตัวโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง ตัวนางไม่ ใช้ซับทรวง
. ปีก หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่า หางหรือหางหงส์ นิยมทำด้วยเขาควาย หรือโลหะเป็นรูปคล้ายปีกนก คู่ ซ้าย ขวา ประกอบกัน ปลายปีกเชิดงอนขึ้นและผูกรวมกัน ไว้ มีพู่ทำด้วยด้ายสีติดไว้ เหนือปลาย ปีก ใช้ลูกปัดร้อยห้อยเป็นดอกดวงรายตลอด ทั้งข้างซ้าย และขวาให้ดูคล้ายขนของนก ใช้สำหรับสวมคาดทับผ้านุ่งตรงระดับ สะเอว ปล่อย ปลายปีกยื่นไปด้านหลังคล้ายหางกินรี
. ผ้านุ่ง เป็นผ้ายาวสี่เหลี่ยมผืนผ้า นุ่ง ทับชายแล้วรั้งไปเหน็บไว้ข้างหลัง ปล่อยปลาย ชายให้ห้อยลงเช่นเดียวกับหางกระเบนเรียกปลาย ชายที่พับแล้วห้อยลงนี้ว่า "หางหงส์ " (แต่ชาวบ้านส่วน มากเรียกปีกว่า หาง หงส์) การนุ่งผ้าของโนราจะรั้งสูงและ รัดรูปแน่นกว่านุ่งโจงกระเบน
. หน้า เพลา เหน็บเพลา หนับเพลา ก็ว่า คือ สนับเพลา สำหรับ สวมแล้วนุ่งผ้าทับ ปลายขาใช้ลูกปัดร้อย ทับหรือร้อยแล้ว ทาบ ทำเป็นลวดลายดอกดวง เช่น ลายกรวยเชิงรักร้อย
. หน้าผ้า ลักษณะเดียวกับชายไหว ถ้าเป็นของโนราใหญ่ หรือ นายโรงมักทำด้วยผ้าแล้วร้อยลูกปัดทาบ เป็นลวดลาย ทื่ทำเป็นผ้า แถบ คล้ายชาย ไหวล้อมด้วยชายแครงก็มี ถ้าเป็นของนางรำ อาจใช้ผ้าพื้นสีต่าง สำหรับคาดห้อยเช่น เดียวกับชายไหว
. ผ้าห้อย คือ ผ้า สีต่าง ที่คาดห้อยคล้ายชายแครง แต่อาจ มีมากกว่า โดยปกติจะใช้ผ้าที่โปร่งบาง สีสด แต่ละผืนจะเหน็บห้อย ลงทั้งด้าน ซ้าย เละด้านขวาของหน้าผ้า
๑๐. กำไล ต้นแขนและปลายแขน เป็นกำไลสวมต้นแขน เพื่อ ขบรัดกล้ามเนื้อให้ดูทะมัดทะแมงและเพิ่มให้สง่า งามยิ่งขึ้น
๑๑. กำไล กำไลของโนรามัก ทำด้วยทองเหลือง ทำเป็น วงแหวน ใช้สวมมือ และเท้าข้างละหลาย วง เช่นแขนแต่ละ ข้าง อาจสวม -๑๐ วงซ้อนกัน เพื่อเวลา ปรับเปลี่ยนท่าจะได้มีเสียงดังเป็นจังหวะเร้า ใจยิ่งขึ้น
๑๒. เล็บ เป็นเครื่องสวมนิ้ว มือให้โค้งงาม คล้ายเล็บกินนร กินรี ทำด้วยทอง เหลืองหรือเงิน อาจต่อปลายด้วยหวายที่มีลูก ปัดร้อย สอดสีไว้พองาม นิยมสวมมือละ นิ้ว (ยกเว้นหัวแม่มือ)
เครื่องแต่ง กายโนราตามรายการที่ ถึงที่ ๑๒ รวม เรียกว่า "เครื่องใหญ่" เป็นเครื่องแต่งกายของ ตัวยืนเครื่องหรือโนราใหญ่ ส่วนเครื่องแต่งกายของ ตัวนางหรือนางรำ เรียกว่า "เครื่องนาง" จะ ตัดเครื่องแต่งกายออก อย่าง คือ เทริด (ใช้ ผ้าแถบสีสดหรือผ้าเช็ดหน้าคาดรัดแทน) กำไลต้นแขน ซับทรวง และปีก นกแอ่น (ปัจจุบัน นางรำทุกคนนิยมสวมเทริดด้วย)
๑๓. หน้าพราน เป็นหน้ากากสำหรับตัว "พราน" ซึ่ง เป็นตัวตลก ใช้ไม้แกะเป็นรูปใบหน้า ไม่ มีส่วนที่เป็นคาง ทำจมูกยื่นยาว ปลายจมูก งุ้มเล็กน้อย เจาะรูตรงส่วนทื่เป็นตาดำ ให้ผู้สวมมองเห็นได้ถนัด ทาสีแดงทั้งหมด เว้นแต่ส่วนที่เป็น ฟันทำด้วยโลหะสีขาว หรือทาสีขาว หรืออาจเลี่ยมฟัน (มีเฉพาะ ฟัน บน) ส่วนบนต่อจากหน้าผากใช้ขนเป็ด สีขาวติดทาบไว้ต่างผมหงอก
๑๔. หน้าทาสี เป็นหน้ากากของตัวตลกหญิง ทำเป็น หน้าผู้หญิง มักทาสีขาวหรือสีเนื้อ

ประวัติความเป็นมาของมโนราห์

โนรา หรือ มโนห์รา (เขียนเป็น มโนรา หรือ มโนราห์ ก็ได้) เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบ ทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลายใน ภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่อง และบางโอกาสมีบางส่วน แสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม
โนรา เป็นศิลปะพื้นเมืองภาคใต้เรียกว่า โนรา แต่ คำว่า มโนราห์ หรือ มโนห์รา นั้น เป็นคำที่เกิด ขึ้นมาเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการนำเอา เรื่อง พระสุธน-มโนราห์ มาแสดงเป็นละครชาตรี จึงมีคำเรียกว่า มโนราห์ ส่วนกำเนิดของโนรานั้น สันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลจากการ ร่ายรำของอินเดียโบราณก่อนสมัยศรีวิชัย ที่มา จากพ่อค้าชาวอินเดีย สังเกตได้จากเครื่องดนตรีที่ เรียกว่า เบ็ญจสังคีตซึ่งประกอบโหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ ใน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโนรา และท่ารำของโนรา อีกหลายท่าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการร่ายรำของ ทางอินเดีย และเริ่มมีโนราเป็นกิจลักษณะขึ้นเมื่อ ประมาณปี พุทธศักราชที่ ๑๘๒๐ ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยตอนต้น
เชื่อกันว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่ หัวเมืองพัทลุง ปัจจุบันคือ ตำบล บางแก้ว จังหวัด พัทลุง แล้ว แพร่ขยายไปยังหัวเมืองอื่นๆของภาคใต้ จน ไปถึงภาคกลาง และกลายเป็นละครชาตรี และจังหวะ ตะลุง ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ โนรา เกิดขึ้นในราชสำนักของพัทลุงซึ่งมีตำนานเล่า กันมาว่า เจ้าเมืองพัทลุง มีชื่อว่า พระยา สายฟ้าฟาด มีลูกสาวที่ชื่อ ศรีมาลา ซึ่ง มีความสามารถในการร่ายรำมาก ได้เกิดตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน เชื่อกันว่า เป็นท้องกับเทวดา พระยาสายฟ้าฟาดเห็นดัง นั้นก็โกรธมาก สั่งให้นำนางศรีมาลาไป ลอยแพในทะเล ( คือ ทะเลสาปสงขลา) และ แพได้ไปติดที่เกาะใหญ่ นางศรีมาลาก็ ได้ให้กำเนิดลูกชาย โดยตั้งชื่อว่า เทพสิงหล ซึ่งมีนัยความว่า ลูกของเทวดา นางศรีมาลา ได้ฝึกให้เทพสิงหลฝึกร่ายรำ ซึ่งเทพสิงหล ก็สามารถร่ายรำได้สวยงามมาก และร่ายรำ มีชื่อเสียงมากที่เกาะใหญ่ จนรู้ไปถึง หูพระยาสายฟ้าฟาด ซึ่งพระยาสายฟ้า ฟาดก็ยังไม่รู้ว่าหลานตัวเอง ก็ได้ เชิญไปรำในราชสำนัก ฝ่ายนางศรีมาลานั้น ก็น้อยเนื้อต่ำใจเมื่อครั้งที่ถูกลอยแพ ก็บอกกับคนที่มาติดต่อว่า โนราคณะ นี้จะไปรำได้ แต่ต้องปูผ้าขาวตั้ง แต่ริมฝั่งที่ลงจากเรือจนไปถึงตำหนัก พระยาสายฟ้าฟาดก็ตอบตกลง ดังนั้น เทพสิงหลจึงไปรำในราชสำนัก เทพสิงหลรำ ได้สวยงามมาก จนพระยาสายฟ้าฟาดก็ ตกตะลึงในความสวยงาม จึงถอดเครื่องทรงที่ ทรงอยู่ให้กับเทพสิงหล แล้วบอกว่า "เครื่อง แต่งกายกษัตริย์ชุดนี้มอบให้เป็นเครื่องแต่งกาย ของโนรานับแต่นี้เป็นต้นไป" เทพสิงหลจึง บอกว่าแท้จริงแล้วเป็นหลานของพระยาสาย ฟ้าฟาด พระยาสายฟ้าฟาดจึงรับโนราไว้ ในราชสำนักและให้สิทธิแต่งกายเหมือนกษัตริย์ทุก ประการ

ตัวตลกหนังตะลุง

ตัวตลกหนังตะลุง
รูปตัวตลก คือรูปหนังตะลุงทีเป็นเสมือนตัวแทนของชาวบ้านซึ่งจำลองรูปร่างลักษณะ กิริยาท่าทางและนิสัยมาจากคนจริงในสังคมภาคใต้ หนังตะลุงคณะหนึ่งๆ จะมีตัวตลกประมาณ 8 -15 ตัว แต่ละตัวมีรูปร่างและนิสัยแตกต่างกัน แต่ทุกตัวจะพูดภาษาถิ่น มีลีลาการพูดสุ้มเสียงแตกต่างกัน เมื่อเป็นตัวตลกตัวเดียวกันไม่ว่าคณะใดจะนำไปใช้จะต้องรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวตลกนั้นๆ ให้เป็นแบบเดียวกันหมด คนเชิดต้องศึกษาและฝึกเชิดแต่ละตัวให้เกิดความช่ำชองถูกต้องตามแบบฉบับจะผิดเพี้ยนไปไม่ได้ ดังนั้น "ยอดทอง" ของหนังตะลุงทุกคณะจะต้องแกะให้รูปร่างหน้าตาเหมือนกัน มีขนาดใกล้เคียงกัน ผู้เชิดทุกคณะต้องฝึกเลียนเสียงยอดทองให้มีสำเนียงเป็นอย่างเดียวกันมีนิสัยตามที่เคยมีมาทุกประการ นายหนังตะลุงจึงต้องสวมวิญญาณของตัวตลกตัวนั้นๆ ตามแบบฉบับที่นิยมสืบถ่ายกันมาอย่างแนบเนียนและครบถ้วน

บทบาทของตัวตลก
ตัวตลกของหนังตะลุง มีบทบาทสำคัญเท่าที่ปรากฏอยู่ดังนี้
  1. ให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ขัน เนื่องจากหนังตะลุงต้องแสดงกลางคืน ใช้เวลาแสดงนาน และมักแสดงไปจนกระทั่งสว่าง ดังนั้นการที่จะต้องคอยกระตุ้นไม่ให้ผู้ชมง่วงหลับจึงเป็นเรื่องสำคัญ นายหนังจึงต้องคอยแทรกเรื่องตลกให้ได้ฮากันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจำเป็นต้องมีตัวตลกออกมาคอยเรียกเสียงฮาทุกฉากทุกตอน ฉากนั่งเมืองใช้ตัวตลกเป็นอำมาตย์เสนา ฉากเดินป่ามีตัวตลกเป็นผู้ติดตาม ฉากรบใช้ตัวตลกเป็นพลรบคอยยั่วเย้าท้าทาย ฉากรักใช้ตัวตลกคอยหยอกล้อชี้แนะ เป็นต้น โดยมากในแต่ละฉากแต่ละตอนจะมีตัวตลกเกินกว่า 1 ตัว เพื่อจะได้ชวนกันดึงเข้าสู่จุดได้สะดวกยิ่งขึ้น ผู้ชมหนังตะลุงบางคนสนใจการตลกมากกว่าการดำเนินเรื่อง หนังตะลุงที่ตลกเก่ง คือมีแง่มุมตลกได้มาก ตลกเหมาะจังหวะ มีความขำคมอยู่ในที ไม่หยาบโลนมากนัก ให้เป็นที่พอใจของผู้ชมทุกเพศทุกวัย
     
  2. ทำให้นายหนังสามารถแสดงทัศนะหรือวิพากษ์วิจารณ์ขัดแย้งได้สะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากบางสิ่งบางอย่างที่มีผลกระทบต่อสังคม ถูกจำกัดการแสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์แต่เป็นความต้องการของสังคมที่ใคร่ฟังหรือได้ระบายออกกรณีเช่นนี้หนังตะลุงจะใช้วิธีแสดงออกผ่านตัวตลก เป็นทีเล่นทีจริง หยิกแกมหยอกหรือบางครั้งก็โจมตีตรงไปตรงมาอย่างรุนแรงสนองทั้งความต้องการของนายหนังเองและของผู้ชม ทำให้เรื่องหนักกลายเป็นเรื่องเบา กรณีเช่นนี้เคยมีนายหนังตะลุงบางคนถูกจับฟ้องร้องฐานด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านตัวตลก มีการสู้คดีกัน นายหนังตะลุงแก้ว่าตนไม่ได้พูด ตัวตลกเป็นตัวพูดให้นำตัวตลกไปจับขังแทน ในที่สุดนายหนังคณะนั้นถูกสั่งห้ามออกตัวตลกนั้นเป็นเวลา 3 ปี นายหนังก็เชื่อฟังพอครบ 3 ปี ก็นำตัวตลกนั้นมาใช้ตามเดิมและบอกเล่ากับผู้ชมที่หายหน้าไป 3 ปีเต็มเพราะติดคุก
     
  3. ช่วยให้นายหนังได้พักเหนื่อยไปในตัว เพราะเนื่องจากการแสดงหนังตะลุงแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลาต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง การดำเนินเรื่องอย่างเป็นกิจจะลักษณะทำให้นายหนังเหนื่อยมาก เพราะต้องคิดบทกลอนบ้าง คิดบทสนทนาบ้างเรื่องก็ดำเนินไปเร็วเกินควร ต้องใช้เรื่องยาวๆ ยากแก่การผูกเรื่องและคลี่คลายเหตุการณ์จึงใช้วิธีตลกแทรกมากๆ เพราะสามารถจะดึงเรื่องใดเข้ามาสอดแทรกก็ได้ เมื่อเรียกเสียงฮาได้ครั้งหนึ่ง นายหนังก็ได้หยุดพักผ่อนไปในตัว หรือแม้จะตลกต่อเนื่องไปก็ไม่เคร่งเครียดเหมือนกับการดำเนินเรื่อง
     
  4. ทำให้การเชิดหนังตะลุงมีหลากลักษณะและเป็นศิลปะที่คงอยู่ได้ เนื่องจากตัวตลกหนังตะลุงมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน มีน้ำเสียงและนิสัยผิดแปลกกัน ทำให้ลีลาการเชิดการสวมบทบาทมีหลายลักษณะ ผู้ชมจึงไม่เบื่อง่าย แม้ลูกคู่ที่บรรเลงดนตรีก็สนุกตาม และที่สำคัญยิ่งก็คือตัวตลกช่วยให้การแสดงหนังตะลุงเข้าถึงจิตใจประชาชนได้ทุกเพศทุกวัยสามารถดึงเหตุการณ์เฉพาะหน้าหรือสภาพความเป็นจริงของสังคมที่เป็นปัจจุบันมาสอดใส่ในบทบาทของตัวตลกได้ทุกเรื่องทุกช่วงตอน หนังตะลุงจึงเป็นสื่อชาวบานที่ตามสมัยนิยมกันอยู่เสมอ อันเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ช่วยให้ศิลปะการเชิดหนังตะลุงของภาคใต้คงอยู่ได้
การเสนอมุขตลกของหนังตะลุงบางคณะ นอกจากจะใช้ตัวตลกเป็นสื่อ อาจจะใช้ตัวสำคัญ เช่น เจ้าเมืองบางเมืองเป็นตัวตลกก็มี ในกรณีเช่นนี้เรียกกันว่า "ตลกรูปใหญ่ ส่วนการตลกที่ใช้ตลกโดยตรงชาวบ้านเรียกว่า "ตลกรูปกาก" (รูปกาก หมายถึงรูปประกอบเบ็ดเตล็ดไม่ใช่รูปสำคัญ ) หนังตะลุงบางคณะใช้ฤาษีทุศีล (เช่น ฤาษีเซ่ง) หรือใช้ยักษ์บ้าๆ บอๆเป็นตัวตลกก็มี

ตัวตลกตัวหลัก
ตัวตลกตัวหลักของหนังตะลุงภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย คือมีอยู่ทุกคณะ ได้แก่ เท่ง หนูนุ้ย สีแก้ว ยอดทอง ขวัญเมือง ตัวตลกที่นิยมรองมา คือนิยมกันหลายคณะแต่ไม่กว้างขวางเท่าชุดแรก ได้แก่ สะหม้อ อินแก้ว โถ พูน กรั้ง หรือ กลั้ง ปราบ คงรอด จีนจ็อง หนูเนือย (น้องของหนูนุ้ย) เป็นต้น ตัวตลกเหล่านี้เมื่อเรียกกันจริงๆ มักใช้คำว่า "อ้าย" นำหน้า เช่น อ้ายเท่ง อ้ายหนูนุ้ย อ้ายกรั้ง อ้ายคงรอด อ้ายหนูเนือย คำว่าอ้ายในที่นี้มิได้เป็นคำหยาบแต่ประการใด ส่วนตัวตลกของหนังตะลุงฝั่งตะวันตกที่เป็นตัวพิเศษ ซึ่งหนังฝั่งนั้นทุกคณะจะขาดไม่ได้คือ เณรพอน

ศักดิ์ของตัวตลก
รูปหนังตะลุงคณะหนึ่งๆ ซึ่งมีประมาณ 100 - 200 ตัว มีทั้ง ฤาษี มนุษย์ เทวดา ยักษ์มาร และรูปประกอบอื่นๆ หนังตะลุงถือว่ามีศักดิ์ศรีต่างกัน การจัดเก็บซ้อนในแผงเก็บรูปก็ดี การจัดปักหรือแขวนรูปไว้ในโรงขณะแสดงก็ดี ต้องจัดเป็นพวกลำดับให้ถูกตามศักดิ์ เช่น ฤาษีมีศักดิ์สูงสุดต้องเก็บไว้บนสุด เมื่อแขวนรูปเทวดาต้องอยู่เหนือศีรษะ รูปฝ่ายอธรรม เช่น ยักษ์ โจร นางเบียน ต้องปักวางไว้ซ้ายมือของหนัง รูปฝ่ายธรรมะไว้ทางขวา เหล่านี้เป็นต้น สำหรับตัวตลกนั้นถือว่าเป็นรูปที่มีศักดิ์สูงรองจากฤาษี พระอิศวร เทวดาและเจ้าเมืองลงไปแต่มีความสำคัญกว่าตัวพระตัวนางหรือเจ้าเมืองที่ขาดคุณธรรมรูปตลกบางตัวนายหนังถือเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์มีการปิดทองเต็มตัวมีการเคารพบูชาเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ย่อมแตกต่างกันไปตามความศรัทธาของคณะนั้นๆรูปตลกบางตัวแกะสลักขึ้นอย่างมีพิธีรีตอง มีการเลือกวันเริ่มแกะสลัก เลือกลักษณะของหนังที่นำมาตัด บางรูปใช้หนังเท้าจากศพของคนที่นายหนังบูชานับถือมาเป็นส่วนประกอบซึ่งโดยมากมักจะใช้เป็นตัวตลกเอก อาจมีพิธี "เบิกปาก" เพื่อให้มีความศักดิ์สิทธิ์พูดจาเป็นที่พอใจ ผูกใจคนดู เหล่านี้เป็นต้น

ลักษณะเฉพาะของรูปตัวตลก
รูปตัวตลกแต่ละตัวมีวิธีการแกะสลักและประกอบให้แขนทั้ง 2 ข้างสามารถเคลื่อนไหวได้ โดยแบ่งตัดแขนแต่ละข้างเป็น 3 ตอน เป็นช่วงแขนบนตอนหนึ่ง ใช้เชือกเหนียวร้อยต่อกันเพื่อให้แขนเคลื่อนไหวได้ทั้ง 3 ส่วน คล้ายคนจริง โดยจะใช้ไม้กลมเล็กผูกโยงร้อยไว้กับสันหลังมือสำหรับเชิดให้มือเคลื่อนไหว อาจทำท่ายกมือไหว้ ผลัก ถอง ตบตี เอื้อม ฉุด ลาก ได้ทุกประการ นอกจากนั้นปากของรูปตัวตลกก็ทำให้สามารถเคลื่อนไหวริมฝีปากล่างขึ้นลงได้ โดยมีเชือกผูกสไรับชักปากให้อ้าออกและมีคันโยงคล้ายคันเบ็ดขนาดเล็กผูกแนบซ่อนไว้เพื่อดึง จึงสามารถชักปากตัวตลกขึ้นลงได้ตามจังหวะของการพูดทำให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น วิธีพากย์รูปหนังตะลุงโดยการชักปาก"นี้เป็นเหตุให้เกิดสำนวนภาษากล่าวตำหนิคนที่พูดอะไรโดยไม่เป็นตัวของตัวเองว่า " ถูกชักปาก "

รูปตัวตลกบางตัวยังทำให้สามารถเคลื่อนไหวส่วนขาได้อีกด้วย ทำให้สามารถถีบอัดและขึ้นเข่าได้ เป็นที่น่าสังเกตว่ารูปตัวตลกหนังตะลุงส่วนมากเมื่อปล่อยแขนให้ห้อยเหยียดตรงขนานกับลำตัว ปลายนิ้วมือจะยาวเลยระดับเข่าลงมาซึ่งต้องตามตำราลักษณะมหาบุรุษ อาจเป็นโดยบังเอิญหรือเนื่องแต่คติใดยังไม่อาจทราบได้รูปตัวตลกทุกตัวสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยภาคใต้ยุคที่ยังไม่สวมเสื้อ เป็นอย่างดี ทั้งยังสะท้อนถึงความนิยมในการใช้มีดและอาวุธพื้นบ้าน เช่น กริช (ของยอดทอง) อ้ายครกหรืออ้ายคล็อก (ของเท่ง) กรรไกรคีบหมาก (ของหนูนุ้ย) ขวาน (ของทองพูน) เป็นต้น หนังตะลุงยุคเก่ามีผู้ทำหน้าที่เชิดตัวตลกโดยเฉพาะบางคณะมีถึง 2 คน แต่หนังตะลุงในปัจจุบัน นายโรงทำหน้าที่เชิดรูปทุกตัวเพียงคนเดียว

กลอนและลีลากลอน

กลอนและลีลากลอน
กลอนหรือคำประพันธ์ที่หนังตะลุงใช้มีหลายชนิดการขับร้องก็มีทำนองและมีที่ใช้ต่างกัน คือ
  1. ร่ายโบราณ ใช้ในบทตั้งธรณีสาร ตอนออกรูปฤาษี การร้องกลอนออกเสียงพึมพำ มีลีลาเหมือนร่ายมนตร์
     
  2. กาพย์ฉบัง ใช้ในบทออกลิงหัวค่ำ ออกรูปฉะ และออกรูปพระอิศวร การร้องกลอนออกเสียงเต็มเสียงในบทออกลิงหัวค่ำและออกรูปฉะ ส่วนบทออกรูปพระอิศวรจะมีท่วงทำนองแบบเดียวกับออกฤาษี
     
  3. กลอนแปด ใช้ตอนออกลิงหัวค่ำ ออกรูปปรายหน้าบท บทบรรยายความทั่วไป และอาจใช้ในบทพรรณนาความบ้าง กลอนแปดนิยมใช้กันมากในหมู่หนังตะลุงในจังหวัดสงขลา ทำนองการร้องกลอนแบบสงขลาจะค่อนข้างช้า หนังตะลุงทางนครศรีธรรมราชเรียกทำนองการร้องกลอนแบบสงขลาว่า ทำนองสงขลา ส่วนการร้องกลอนของหนังตะลุงทางนครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง จะมีทำนองเร็ว และกระชับกว่า เรียกว่า ทำนองสงขลากลาย
     
  4. กลอนกลบท คือกลอนแปดนั่นเอง แต่มีลักษณะบังคับเพิ่มขึ้น มีหลายชนิด ยึดแบบอย่างจากกลบทสิริวิบุลกิติ (ทางภาคใต้เรียก ยศกิต) ของหลวงศรีปรีชา ( เซ่ง )บ้าง ดัดแปลงขึ้นเองบ้าง แต่ละชนิดเลือกใช้ตามลีลาและบทบาทของตัวละครเช่น กลบทคำตาย นิยมใช้ตอนออกรูปยักษ์ โดยเฉพาะตอนตั้งเมืองเริ่มจับบทยักษ์ และบทพญาครุฑ เช่น

    "ขอสาธกยกเรื่องถึงเมืองยักษ์
    อาณาจักรตั้งติดทิศพายัพ
    ในเมืองหัดทหารชำนาญฝึก
    ได้ปราบศึกสำเร็จไว้เสร็จสรรพ
    ทหารบกทหารเรือเหลือจะนับ
    แม่ทัพร้ายกายชาตินักรบ
    ขึ้นปีใหม่ใครไม่ถือน้ำพิพัฒน
    จะต้องตัดเศียรศอตามข้อกฎ
    แผ่ผดุงรุ่งเรืองกระเดื่องยศ
    ปราบหมดทั่วดีทั้งสิ่ทิศ"
    (หนังปรีชา สงวนศิลป์ จังหวัดนครศรีธรรมราช)

    นอกจากนี้หนังตะลุงอาจจะใช้กลอนกลบทหลายๆ ชนิดแทรกเพียงบางวรรคบางตอนในขณะว่ากลอนแปด ทั้งนี้เพื่อให้ลีลากลอนมีชั้นเชิงชวนฟัง กลบทอื่นๆ ที่หนังทั่วๆ ไปนิยมใช้ เช่น กลบทนาคบริพันธ์ กลบทกบเต้นต่อยหอย กลบทวัวพันหลัก กลบทงูกลืนหาง เป็นต้น
     
  5. กลอนสี่ นิยมใช้ในหมู่หนังตะลุงจังหวัดนครศรีธรรมราช ในบทที่ต้องการให้อารมณ์หรรษา เช่น บทชม (ชมโฉม ชมธรรมชาติ) บทโต้ตอบแบบสนุกๆ ระหว่างตัวละคร บทสอนใจ บทเกี้ยว บทสมห้อง (บทสังวาส) ดังตัวอย่าง

    "เข้าป่าระหง ชมดงไม้ดอก งอกเคียงเรียงรก หลุมนกหว้าหวัง
    ไม้เคี่ยมไม้เคียน ไม้เรียนไม้รัง สาเกหนุนหลัง ไม้ทังไม้ทูง
    ไม้สวยไม้แซะ ไม้แบกไม้เบื่อ ไม้เดื่อลูกดก นกนั่งเป็นฝูง
    ไม้ปริงไม้ปราง ไม้ยางไม้ยูง ไม้แคต้นสูง เห็นฝูงชะนี"
    (หนังทวงศ์ เสียงทอง จังหวัดนครศรีธรรมราช)
     
  6. กลอนลอดโหม่ง ใช้ในบทพรรณนาความโศกเศร้าลีลากลอนจะมีความเนิบช้า เมื่อนายหนังว่ากลอนได้จังหวะหนึ่งๆ ลูกคู่จะตีโหม่งตาม 4 ที โดยตีลูกเสียงแหลมนำ 2 ที ตามด้วยเสียงทุ้ม 2 ที เสียงดัง โหม่งๆ ทุ้มๆ และเมื่อว่ากลอนจบบทหนึ่งจะตีโหม่งเสียงทุ้มยาวเป็นเสียง โหม่งๆ ทุ้มๆๆๆ รูปแบบกลอนจะมีลักษณะคล้ายกับกาพย์ยานี ดังตัวอย่าง

    "ดังไฟสุมอกแม่ แม่แลแลลูกน้อย
    ในดวงตาละห้อยเจ้าไร้สุขทุกข์แสน
    แม่ป่วยไข้ให้อนาถ ประยูรญาติก็ดูแคลน
    มองแม่แม้นกากี ไม่มีดีสักนิดเดียว
    ถึงแม่ชั่วผัวร้าง แม่ไม่ห่างลูกแม่
    จะดูแลประสาจน ไม่หวังคนแลเหลียว
    หายเสียเถิดแก้วตา จากกายาซูบเซียว
    จงโตวันโตคืน ให้แม่ได้ชื่นใจ"

ความเชื่อเกี่ยวกับหนังตะลุง

ความเชื่อเกี่ยวกับหนังตะลุง
นอกจากจะถือว่าหนังตะลุงเป็นเรื่องบันเทิงใจอย่างมหรสพทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ปะปนอยู่ด้วยหลายประการ ซึ่งจะประมวลเป็นข้อๆ ต่อไปนี้คือ
  1. ความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอ ครูหมอคือบูรพาจารย์และบรรพบุรุษที่นายหนังแต่ละคนสืบเชื้อสายมา โดยเชื่อว่าครูเหล่านั้นยังห่วงใจผูกพันกับนายหนัง หากนายหนังบูชาเซ่นพลีตามโอกาสอันควร ครูหมอก็จะให้คุณ แต่หากละเลยก็อาจให้โทษได้ หนังตะลุงแทบทุกคนจึงมักตั้ง ตั้งหิ้ง (ชั้นไม้ขนาดเล็ก แขวนไว้ข้างฝาในที่สูง) ให้เป็นที่สถิตของครู ปักธูปเทียนบูชาและจะมีพิธีไหว้ครูเป็นระยะๆ เช่น 3 ปีต่อครั้ง ปีละครั้งเป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่จะตกลงกับครูไว้อย่างไร
     
  2. ความเชื่อเกี่ยวกับรูปหนัง เชื่อว่ารูปทุกตัวที่ผูกไม้ตับ ผูกมือ เบิกปาก เบิกตา ชุบร่าง แล้วย่อมมีอาถรรพณ์ผู้ใดเล่นด้วยความไม่เคารพย่อมไม่เกิดมงคลแก่ตน อีกประการหนึ่งรูปแต่ละประเภทมีศักดิ์ไม่เท่ากัน การจัดเก็บต้องเป็นระเบียบ เป็นหมวดหมู่ และต้องเอารูปที่มีศักดิ์สูงไว้บนเสมอ

    นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ รูปศักดิ์สิทธิ์ การทำรูปชนิดนี้ต้องเลือกหนังสัตว์ที่ตายไม่ปรกติ เช่น ถูกฟ้าผ่าตาย คลอดลูกตาย และหากเลือกชนิดสัตว์ได้เหมาะกับรูปก็ยิ่งจะทำให้ขลัง เช่น รูปตลกทำด้วยหนังหมี รูปฤาษีทำด้วยหนังเสือ เป็นต้น
     
  3. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเดินทาง ก่อนออกเดินทางต้องทำพิธี ยกเครื่อง โดยประโคมดนตรีอย่างสั้นๆ นายหนังบอกกล่าวขอความสวัสดีจากครูหมอ ขณะเดินทางถ้าผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือวัดวาอารามเก่าๆ จะหยุดประโคมดนตรีถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ที่นั้น เมื่อถึงบ้านเจ้าภาพจะว่าคาถา ทักเจ้าบ้าน (ทักทายเจ้าที่รักษาบ้าน) แล้วประโคมดนตรีสั้นๆ เรียกว่า ตั้งเครื่อง (บางคณะอาจตั้งเครื่องก่อนทำพิธีเบิกโรงก็ได้)
     
  4. ความเชื่ออื่นๆ ซึ่งมักเป็นเรื่องไสยศาสตร์ที่ทำเพื่อป้องกันปัดเป่าเสนียดจัญไร ขอความสวัสดีมีชัย สร้างเมตตามหานิยม เช่น ก่อนขึ้นโรงดินเวียนโรงทำพิธีปัดเสนียด ผูกหนวดราม (เชือกผูกจอ) เส้นสุดท้ายพร้อมว่าคาถาผูกใจคน เป็นต้น
ความเชื่อของหนังตะลุงมีมาก ในอดีตถือว่าไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่นายหนังต้องเรียนรู้ แสดงหนังได้ดีเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องรอบรู้ไสยศาสตร์อย่างดีด้วยจึงจะเอาตัวรอด แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องนี้เท่าใดนัก

องค์ประกอบในการแสดง

องค์ประกอบในการแสดง
คณะหนังตะลุง หนังตะลุงคณะหนึ่งเรียกว่า 1 โรง
ในสมัยก่อนคณะหนังตะลุงมีประมาณ 9-12 คน ประกอบด้วย นายหนัง (ผู้เล่น) 2 คนนั่งทาง หัวหยวก (ส่วนโคนของต้นกล้วยที่ใช้ปักรูปหนัง) สำหรับพากย์รูปพระ รูปนางคนหนึ่งนั่งทางปลายหยวก สำหรับพากย์ยักษ์ ตัวตลกและตัวเบ็ดเตล็ดอื่นๆ นายหนังทั้งสองจึงเรียกกันในสมัยก่อนว่า หัวหยวก-ปลายหยวก มีลูกคู่ครบตามเครื่องดนตรี คือ คนตีทับ 2 คน (ต่อมาใช้คนเดียวตีทับ 2 ลูก) กลอง 1 คน ปี่ 1 คน โหม่ง 1 คน ฉิ่ง 1 คน กรับ 1 คน (ตอนหลังคนตีโหม่ง ฉิ่ง และกรับใช้คนเดียว) และมีหมอทางไสยศาสตร์ประจำโรงอีก 1 คน ซึ่งเรียกว่า หมอกบโรง

ต่อมา เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร เล่าว่าระยะต่อมาหนังบัว (ประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว) แห่งเมืองนครศรีธรรมราชเริ่มคิดเล่นคนเดียว คือทั้งพากย์และเชิดเอง หนังรุ่นหลังจึงเอาอย่างและปฎิบัติสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ชื่อของคณะหนังตะลุงเรียกชื่อตามนายหนังและนิยมต่อด้วย สร้อยนาม ซึ่งตั้งขึ้นในลักษณะต่างๆ กัน เช่น ตั้งตามชื่อตัวตลกที่เด่นสุดของคณะ เช่น หนังอิ่มเท่ง หนังช่วงดิก หนังปล้องไอ้ลูกหมี หนังแสงโถ ฯลฯ ตั้งตามคุณสมบัติที่ดีเด่นของนายหนัง เช่น หนังแคล้วเสียงทอง หนังจูลี่เสียงเสน่ห์ (เสียงดี) หนังขำพันวาว (ตลกเก่ง), ตั้งตามถิ่นอยู่ (มักตั้งในกรณีที่นายหนังมีชื่อตรงกัน) เช่น หนังเอี่ยมเกาะยอ (เกาะยออำเภอเมืองสงขลา) หนังเอี่ยมเสื้อเมือง(บ้านเสื้อเมือง อำเภอสทิงพระ, จังหวัดสงขลา) เป็นต้น
เครื่องดนตรีของหนังตะลุง หนังตะลุงคณะหนึ่งมีเครื่องดนตรีประกอบการเล่นประมาณ 6 อย่าง คือ
  1. กลอง 1 ลูก (เป็นกลองขนาดเล็ก มีหนังหุ้มสองข้าง หน้ากลองเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ 8-10 นิ้ว หัว-ท้ายเล็กกว่าตรงกลางเล็กน้อย กลองมีความยาวประมาณ10-20 นิ้ว ใช้ไม้ตี 2 อัน)
  2. ทับ 2 ลูก (1 คู่) ในสมัยก่อนดนตรีหลักมีทับ 1 คู่สำหรับคุมจังหวะและเดินทำนอง (ทับ ทำด้วยไม้กลึงและเจาะข้างใน ลักษณะคล้ายกลองยาวแต่ส่วนท้ายสั้นกว่าและขนาดย่อมกว่า หุ้มด้วยหนังบางๆ เช่น หนังค่าง) ทับทั้ง 2 ลูกนี้มีขนาดต่างกันเล็กน้อยเพื่อให้ได้เสียงต่างกัน และสมัยก่อนมีขนาดโตกว่าปัจจุบัน
  3. ฉิ่ง 1 คู่
  4. โหม่ง 1 คู่ เสียงสูงลูกหนึ่ง ใช้สำหรับประกอบเสียงขับกลอน (โหม่งทั้งคู่ แขวนตรึงขนานกันอยู่ในรางไม้ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวโหม่งทำด้วยทองเหลืองหรือทองแดง ถ้าหล่อกลมแบบฆ้องขนาดฆ้องวงเรียกว่า "โหม่งหล่อ" ถ้าทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วดุนให้ส่วนที่จะตีสูงกลมขึ้นกลางแผ่นเรียกว่า โหม่งฟาก)
  5. ปี่ 1 เลา
  6. กรับ หรือ แกระ 1 คู่ (ใช้เคาะรางกับโหม่ง) สำหรับประกอบจังหวะ
บางคณะอาจจะมีซออีก 1 สาย เป็นซอด้วงมากกว่าซออู้ เพราะเสียงเข้ากับเสี่ยงปี่ได้สนิทกว่า การบรรเลงดนตรี นอกจากโหมโรง (ชาวใต้เรียกว่าลงโรง) แล้วก็บรรเลงสลับไปตลอดการแสดง มักบรรเลงตอนขับกลอน ตอนเจรจาจะหยุดบรรเลง (อาจจะตีเครื่องให้จังหวะประกอบบ้าง)

เพลงที่ใช้บรรเลง คือ เพลงโหมโรงใช้เพลงทับ ตอนดำเนินเรื่องใช้เพลงทับบ้าง เพลงปี่บ้าง (เพลงทับคือเพลงที่ถือเอาจังหวะทับเป็นเอก เพลงปี่คือเพลงที่ใช้ปี่เดินทำนองเพลงซึ่งโดยมากใช้เพลงไทยเดิม แต่ปัจจุบันใช้เพลงไทยสากลและเพลงสากลก็มี ปัจจุบันหนังตะลุงนิยมนำเครื่องดนตรีสากลเข้ามาประสม เช่น บางคณะใช้กลองดนตรีสากล ไวโอลิน กีตาร์ ออร์แกน แทนเครื่องดนตรีเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง

โครงเรื่องและแกนเรื่องของหนังตะลุง

โครงเรื่องและแกนเรื่องของหนังตะลุง
นายหนังทั้งในอดีตและปัจจุบันโดยทั่วๆ ไป เป็นบุคคลที่ค่อนข้างจะมีการศึกษาดีและคุ้นเคยกับวรรณกรรมไทย วรรณกรรมหนังตะลุงที่แสดงในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีเค้าเรื่องจากนิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมราชสำนัก วรรณกรรมคลาสสิก และเค้าเรื่องจากแหล่งอื่นที่นายหนังสามารถเข้าถึงได้ เช่น นวนิยาย ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือการ์ตูน รวมถึงเรื่องที่ได้จากหนังสือพิมพ์และเรื่องที่นายหนังประจักษ์ในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ไปแสดง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องที่นายหนังแต่งขึ้นเองซึ่งอาจจะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์อินเดีย ภาพยนตร์สมัยใหม่ วีดีโอเพลงยอดนิยม เป็นต้น หนังที่แสดงโดยนายหนังปัจจุบันจึงค่อนข้างหลากหลาย โดยนายหนังจะรักษาเค้าเรื่องในประวัติศาสตร์ไว้ แต่บางคนอาจจะใช้เค้าเรื่องแนวสัจจะนิยม เรื่องที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์สังคมสมัยใหม่หรือบางคนจะแสดงหนังที่มีเค้าเรื่องผสมผสาน

เรื่องหนังตะลุงปกติจะเริ่มจากปัญหาวิกฤติหรือการผจญภัยของตัวเอก แต่การผจญภัยหรือปัญหาดังกล่าว มักจะเป็นการผจญภัยที่ไม่สิ้นสุดและปัญหาวิกฤตที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาโดยสมบูรณ์ วิกฤติของตัวเอกเกิดได้หลายกรณี อาทิการเผชิญหน้ากับตัวร้าย การเผชิญหน้ากับข้าราชการ การต่อสู้ การถูกล่อลวง การถูกกดขี่ และการพลัดพรากของครอบครัวหรือคนรักวิกฤติของตัวเอกมักได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ และโดยทั่วไปหนังตะลุงมักจบลงตรงจุดวิกฤติ ที่เปิดโอกาสให้มีการแตกเรื่องใหม่ได้หลากหลาย แต่เรื่องจะยุติลงเวลาไหนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายหนัง หลังการประเมินผลการแสดงหรือการประเมินผู้ชมหนังที่แสดงจบโดยสมบูรณ์มีน้อยทั้งนี้เพราะนายหนังปรารถนาให้ผู้ชมเกิดความอยากและต้องการติดตามเรื่อง หรือไม่ก็จินตนาการความเป็นไปของเรื่องด้วยตัวเอง

เครื่องมือการแกะหนัง

เครื่องมือการแกะหนัง
เครื่องมือที่ใช้ในการแกะหนัง ประกอบด้วย
  • กระดานเขียง ต้องใช้สองแผ่น แผ่นหนึ่งเนื้อแข็ง อีกแผ่นหนึ่งเนื้ออ่อน เขียงเนื้อแข็งใช้สำหรับตอกลายด้วยตุ๊ดตู่นิยมใช้ไม้หยี ส่วนเขียงเนื้ออ่อนใช้รองมีดตัดหนัง นิยมใช้ไม้ทังเพราะเนื้อนิ่ม ปลายมีดตัดหนังจะไม่ค่อยหัก
  • มีดแกะ นิยมใช้มีดปลายเล็กเล่มหนึ่ง ปลายใหญ่เล่มหนึ่ง เพื่อให้เหมาะกับงาน และหยาบตามลำดับ
  • ตุ๊ดตู่ นิยมใช้เบอร์ 10 - 17 มีจำนวนหนึ่งชุด เพื่อใช้ตอกตามลวดลายให้เหมาะสมกับขนาดของลาย
  • ค้อน นิยมใช้ฆ้องช่างทอง เพราะน้ำหนักพอดีกับงานแกะ
  • เหล็กเขียนลาย เป็นเหล็กเนื้อแข็ง ปลายแหลม มีด้ามจับขนาดเท่ากับปากกา หรือดินสอ
  • สีผึ้ง มีไว้เพื่อชุบปลายมีด หรือปลายตุ๊ดตู่ เพื่อให้เกิดความลื่น ทำงานได้เร็วขึ้น

เครื่องมือในการแกะ

การแกะหนังตะลุง

การแกะหนังตะลุง
งานแกะหนังหนังยุคเก่า ช่างแกะหนังลุงมีความสำคัญ เพราะได้ช่วยบันทึกของการเปลี่ยนแปลงให้สังคมของภาคใต้อย่างชัดเจน เช่น การแต่งกาย ทรงผม อาวุธประจำกาย เป็นต้น ในสมัยโบราณหนังตะลุงของไทยแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตัวหนังทั้งที่เป็นมนุษย์ และยักษ์ทรงเครื่อง โบราณสวมมงกุฎเหยียบนาค มีอาวุธประจำกายคือ พระขรรค์และคันศร ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูต่อมา เมื่อหนังตะลุงเลิกแสดงรามเกียรติ์ ภาพหนังตะลุงก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วย เจ้าเมืองนางเมือง (ราชา ราชินี) สวมมงกุฎไม่เหยียดนาค ส่วนพระเอกนางเอก ไว้จุกเพิ่มขึ้น

วิวัฒนาการของงานแกะหนัง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตหนังตะลุง ได้เริ่มมีขึ้นในช่วง พ.ศ.2503 กล่าวคือการผลิตหนังตะลุงสมัยโบราณ ช่างแกะหนังตัดรูปให้นายหนังนำไปแสดงเพียงอย่างเดียว ช่างแกะหนังตะลุงของตัวเอง โดยไม่มีการลอกเลียนกันเหมือนในปัจจุบันนี้

ตั้งแต่ พ.ศ.2503 เป็นต้นมามีชาวต่างชาติ เข้ามาเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น ภาพหนังตะลุงกลายเป็นสินค้าของภาคใต้และประเทศไทย ทำรายได้ให้ประเทศปีละรายพันร้อยล้าน ในขณะที่การแสดง หนังตะลุงซบเซาลงไป แต่การผลิตหนังตะลุงยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เห็นคุณค่าของตัวหนังตะลุง ได้นำมาประดับตกแต่งบ้านเรือน ช่างแกะหนังจึงมีมากขึ้น และปัจจุบันสามารถเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดีเช่นอาชีพอื่น

กรรมวิธีแกะหนัง ขั้นเตรียมหนัง หนังสัตว์ที่ช่างนิยมนำมาแกะรูปหนังมี 2 อย่าง คือ หนังวัวและหนังควาย เพราะหนังมีความหนาพอเหมาะ เหนียวทนทาน เมื่อฟอกแล้วจะโปร่งแสง ครั้นระบายสีและนำออกเชิดบนจอ (สำหรับหนังตะลุง) จะให้สีสันสวยงาม ดูโปร่ง ไม่มืดทึบ อีกอย่างหนึ่งหนังวัว หนังควายไม่บิดงอหรือพับง่ายๆ เมื่อออกเชิดจึงบังคับการเคลื่อนไหวให้

ตัวหนังแสดงอิริยาบถได้ดี และสมจริง สำหรับหนังสัตว์อื่นๆ เช่นหนังค่าง หนังอีเก้ง หนังหมี หนังเสือ ฯลฯ ก็ใช้แกะรูปหนังได้แต่หนังสัตว์พวกนี้ค่อนข้างจะทึบแสง ช่างจึงใช้แกะรูปที่ไม่ต้องการโชว์ลายแกะฉลุและสีสันของตัวหนัง เช่น รูปตลก และรูปกาก ทั้งหลาย

การหมักจะใช้เวลา 3 - 4 วัน ให้กรดจากน้ำหมักกัดหนังให้ขาวและหนังนิ่มคืนสภาพเหมือนหนังสดๆ จากนั้นจึงนำหนังมาล้างเพื่อขูดขนออก วิธีฟอกหนังทั้งสองแบบ แบบที่หมักน้ำสับปะรดลงทุนสูงกว่า แต่สะดวกและรวดเร็ว เพราะวิธีนี้เนื้อเยื่อและขนจะหลุดออกจากหนังได้โดยง่าย

การฟอกหนังในปัจจุบันสะดวกและรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก คือ ช่างจะแช่หนังที่ตากแห้งแล้วในน้ำส้มสายชูซึ่งผสมน้ำให้พอมีรสเปรี้ยวแช่ไว้ชั่วโมงเศษๆ หนังก็จะคืนตัวนิ่มอย่างหนังสดๆ จากนั้นจึงนำไปขูดขนออก การขูดขนต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะมีดอาจเฉือนหนังให้เกิดรอยตำหนิได้หรือไม่ก็ทำให้หนังหนาบางไม่เท่ากัน เวลาขูดหนังช่างอาจขูดบนแผ่นไม้หรืออาจใช้ไม้กลมรองแล้วขูดได้ แต่วิธีหลังนัยว่าสามารถขูดขนออกได้หมดจดกว่าเมื่อขูดหนังเรียบร้อยแล้วทั้งผืนจะล้างหนังด้วยน้ำสะอาดแล้วเอาขึงกับกรอบไม้สี่เหลี่ยมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อผึ่งลมหรือแดดอ่อนๆ ให้หนังค่อยๆ แห้งลงอย่างช้าๆ ช่างจะไม่เอาหนังผึ่งแดดจัดเพราะหนังจะแห้งและหดตัวเร็ว เกิดการบิดตัวโค้งงอไม่สวยงาม เมื่อหนังแห้งสนิทจึงแก้ออกจากกรอบ ตัดหนังรอบนอกซึ่งมีรอยตำหนิทิ้งก็จะได้หนังที่จะใช้แกะฉลุตามต้องการ

การตากหนัง
ปัจจุบันนี้ช่างบางคนมิได้ฟอกหนังใช้เอง แต่จะรับซื้อหนังที่ฟอกแล้วมาจากโรงงาน ทำให้งานแกะรูปหนังลดขั้นตอนไปได้ขั้นหนึ่ง แต่หนังที่ฟอกจากโรงงานจะมีลักษณะด้อยกว่าหนังที่ฟอกเองมาก คือ มีความบาง เนื้อหนังค่อนข้างยุ่ย ไม่คงทนบิดงอง่าย แชะค่อนข้างทึบแสง หนังประเภทนี้ช่างแกะหนังเรียกว่า "หนังผ่า" ด้วยเหตุที่หนังผ่ามีคุณภาพต่ำ จึงไม่นิยมใช้แกะรูปหนังสำหรับเชิด รูปหนังประเภทใช้ประดับตกแต่งที่ต้องลงสีหลายๆ สีจึงไม่เป็นที่นิยม เพราะค่อนข้างทึบแสงดังกล่าวแล้ว หนังผ่าจะใช้รูปแกะรูปประดับตกแต่งที่ลงสีดำทั้งตัวเป็นส่วนใหญ่กับหนังด้านในเพียงด้านเดียวการแกะรูปหนังประเภทนี้มีวิธีเตรียมหนังต่างไปจากหนังที่ต้องขูดขนเล็กน้อย กล่าวคือ ในขั้นตอนการฟอกหนังช่างจะผสมน้ำยากันขนร่วงลงในน้ำส้มที่ฟอกหนังด้วย การตกแต่งหนังก็ทำเฉพาะด้านในเพียงด้านเดียว

ขั้นร่างภาพ การร่างภาพเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในการแกะรูปหนัง ช่างส่วนหนึ่งไม่สามารถร่างภาพได้ ทำหน้าที่เพียงเตรียมหนังแกะฉลุหรือลงสีเท่านั้น งานร่างภาพเป็นงานที่ประณีตต้องมีความสามารถในการออกแบบ ซึ่งต้องใช้ทั้งความรู้ จินตนาการ ฝีมือ และทักษะประกอบกัน การทำรูปหนังเชิดไม่ค่อยมีปัญหาในการร่างภาพมากนัก เพระมีแบบให้เห็นอยู่มากมาย รูปที่แกะก็แยกเป็นตัวๆ มีขนาดไม่ใหญ่และใช้กนกงกงอนไม่มากมายอย่างหนังใหญ่ แต่ถ้าเป็นรูปจับและรูปหนังใหญ่แล้ว การร่างภาพเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากมากโดยทั่วไปรูปจับและรูปหนังใหญ่มักเกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์ ช่างต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรู้จักรูปร่างลักษณะและนิสัยใจคอของตัวละครต่างๆ เป็นอย่างดี เพราะเวลาร่างภาพต้องให้ลักษณะภาพถูกต้องตามลักษณะรูปร่างของตัวละครในรามเกียรติ์ ทั้งต้องร่างภาพให้ได้อารมณ์ตรงตามเหตุการณ์ของเรื่องและอุปนิสัยใจคอของตัวละครตัวนั้นๆ ในการร่างภาพดังกล่าวนี้ช่างต้องศึกษาวรรณคดีและที่สำคัญคือพยายามเก็บภาพเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จากที่มีผู้ทำไว้แล้วมาคิดเสริมเติมแต่งขึ้นอีกทีหนึ่ง

ในการร่างภาพที่ไม่ซับซ้อนนัก ช่างนิยมใช้เหล็กปลายแหลมที่เรียกว่า "เหล็กจาร" ร่างภาพลงไปในแผ่นหนังเลยทีเดียว ที่ทำได้เช่นนี้เพราะรอยเหล็กจารที่ปรากฏบนแผ่นหนังสามารถลบได้ง่ายโดยใช้นิ้วมือแตะน้ำหรือน้ำลายลูบเพียงเบาๆ แต่สำหรับภาพที่ซับซ้อนช่างจะร่างภาพลงในกระดาษก่อน ครั้นได้ภาพลงตามต้องการแล้วจึงจารทับลงบนแผ่นหนัง หรือมิเช่นนั้นก็แกะฉลุภาพแล้ววางทาบบนแผ่นหนังแล้วพ่นสีทับ ก็จะได้ภาพบนแผ่นหนังตามต้องการ

ช่างที่ทำหัตถกรรมแกะหนังเป็นอาชีพได้นำเอาเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการร่างแบบลงแผ่นหนัง นั่นคือเมื่อมีภาพตัวแบบที่สมบูรณ์แล้ว ก็จะนำภาพนั้นมาทำพิมพ์เขียวเพื่อใช้เป็นแบบในการแกะรูปหนังต่อไป วิธีดังกล่าวนี้ รูปแบบของภาพที่แกะจะออกมาเหมือนๆ กันสามารถสร้างงานได้รวดเร็วแต่ราคาต่ำกว่ารูปที่ร่างภาพขึ้นเฉพาะรูปนั้นๆ เพียงรูปเดียว เนื่องจากตัวหนังต้องมีลายกนกงกงอน ช่างบางคนจึงอาศัยการศึกษาเรื่องลายไทยจากตำราต่างๆ แล้วนำเข้ามาประยุกต์ใช้กับรูปหนัง โดยคงเอกลักษณ์ความเป็นพื้นบ้านเอาไว้วิธีประสมประสานเช่นนี้ ทำให้รูปหนังได้พัฒนาในส่วนละเอียดยิ่งๆ ขึ้น

ขั้นแกะฉลุ เมื่อร่างภาพเสร็จก็ถึงขั้นแกะฉลุขั้นนี้ต้องใช้ความชำนาญและต้องพิถีพิถันมาก เพื่อให้ได้ดอกลายอ่อนงาม ช่วงจังหวะของดอกลายหรือกนกแต่ละตัวพอเหมาะพอดี

ในการแกะฉลุ มีเครื่องมือที่สำคัญๆ ได้แก่ เขียงสำหรับรองแกะฉลุหนัง 2 อัน เป็นชนิดไม้เนื้อแข็งเนื้อเหนียว 1 อัน และไม้เนื้ออ่อนเนื้อเหนียว 1 อัน มีดขุด 2 เล่ม เป็นชนิดปลายแหลมเล็ก 1 เล่ม และปลายแหลมมน 1 เล่ม ตุ๊ดตู่หรือมุก 1 ชุด มีชื่อเรียกแต่ละอันตามลักษณะปากต่างๆกัน เช่น มุกกลม มุกเหลี่ยม มุกโค้ง มุกตา มุกดอก มุกวงรี และมุกปากแบน ค้อนตอกมุก 1 อัน และเทียนไขหรือสบู่สำหรับจิ้มปลายมีดขุดหรือปลายมุก 1 ก้อน วิธีแกะ ถ้าแบบตอนใดเป็นกนกหรือตัวลายจะใช้มีดขุดการขุดจะใช้เขียงไม้เนื้ออ่อนรองหนัง แล้วกดปลายมีดให้เลื่อนไปเป็นจังหวะตามตัวลายแต่ละตัวโดยไม่ต้องยกมีด ลายตัวใดใหญ่มีส่วนโค้งกว้างก็ใช้มีดปลายแหลมเล็ก ถ้าแบบตอนใดต้องทำเป็นดอกลายต่างๆ หรือเดินเส้นประ ก็ใช้มุกตอกตามลักษณะของปากมุกแต่ละแบบ การตอกมุกจะใช้ค้อนตอกโดยมีเขียงไม้เนื้อแข็งรองหนัง หลังจากแกะฉลุส่วนภายในของตัวรูปสำเร็จ ก็ใช้มีดขุดแกะหนังตามเส้นรอบนอก ก็จะได้รูปหนังแยกออกเป็นตัว ถ้าเป็นรูปหนังเชิดช่างจะใช้หมุดหรือเชือกหนังร้อยส่วนต่างๆ ที่ต้องการให้เคลื่อนไหวได้เข้าตามส่วนต่างๆ ของรูป ซึ่งมีส่วนของมือ แขน และปาก เป็นต้น

การแกะ
ขั้นลงสี การลงสีหนังขึ้นอยู่กับลักษณะรูปและประโยชน์การใช้สอย รูปหนังสำหรับเชิดมีความมุ่งหมายจะใช้แสดงนาฏกรรมเล่นแสง สี และเงา ต้องการความเด่นสะดุดตาช่างจึงเลือกใช้สีฉูดฉาด เอาสีที่ตัดกันมาใช้ร่วมกัน ใช้หลายสีและเป็นสีโปร่งแสง เช่น หมึกสี หรือที่ช่างแกะหนังเรียกว่า "สีซอง" หรือ "สีเยอรมัน" สีประเภทนี้เวลาใช้จะผสมด้วยสุรา น้ำร้อน หรือน้ำมะนาว ยกเว้นสีชมพูซึ่งผสมกับน้ำร้อนได้เพียงอย่างเดียว คุณสมบัติของสีชนิดนี้สามารถซึมติดอยู่ในเนื้อหนังและไม่ลอกง่ายๆ รูปหนังเชิดส่วนใหญ่จะใช้สีชนิดนี้ เว้นแต่ตัวตลกหรือรูปอื่นๆ ที่ต้องการให้ดูทึมๆ ก็ใช้สีทึบแสง มีสีน้ำมันเป็นอาทิ สำหรับหนังใหญ่หรือรูปจับถ้าจะลงสีหลายสีก็ใช้สีชนิดนี้

ขั้นลงน้ำมันชักเงา เมื่อลงสีรูปหนังเสร็จ ก็ถือว่ารูปหนังเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีการลงน้ำมันชักเงาหรือไม่ก็ได้ แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นรูปหนังเชิดมักจะลงน้ำมันชักเงาด้วย ทั้งนี้เพราะน้ำมันชักเงาช่วยขับให้ตัวหนังเป็นมันงาม เมื่อออกจอผ้าขาวจะดูสวยยิ่งขึ้น อนึ่ง รูปหนังชนิดนี้จะถูกใช้เชิดบ่อยที่สุด การลงน้ำมันชักเงาจะช่วยรักษาสภาพหนังมิให้ชำรุดเร็วเกินไป

การลงน้ำมันชักเงาทำได้ง่าย เพียงแค่เอารูปหนังวางราบบนกระดาษที่สะอาด ใช้พู่กันแบนชุบน้ำมันชักเงาทาบตามตัวหนังด้านละ 3 – 4 ครั้ง แล้ววางไว้ให้แห้งก็เสร็จการแกะรูปหนังเป็นงานที่ละเอียดประณีต มีขั้นตอนดำเนินการค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้ความรู้และทักษะหลายๆ ด้านประกอบกัน การแกะรูปแต่ละตัวๆ โดยเฉพาะรูปหนังใหญ่และรูปจับต้องใช้เวลาหลายวัน ช่างที่เป็นศิลปินต้องอาศัยความรักงาน ความพิถีพิถัน ทุ่มเทจิตใจในผลงานทั้งหมด เพื่อให้ผลงานมีคุณค่าทางศิลปะ ดูแล้วมีชีวิตวิญญาณ ฉะนั้นงานของศิลปินประเภทนี้จึงมีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ตามท้องตลาดทั่วไป รูปหนังที่วางหรือเร่จำหน่ายอยู่ในภาคใต้ส่วนใหญ่นั้นเป็นฝีมือของช่างแกะหนังที่มุ่งทางปริมาณมากกว่าคุณภาพ อย่างไรก็ตามช่างประเภทหลังนี้เมื่อทำงานแกะหนังนานๆ ก็คงมีบางส่วนที่พัฒนาฝีมือถึงขั้นเป็นศิลปินได้

ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง

ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง






ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุงนักวิชาการหลายท่าน ให้อรรถธิบายว่าหนังตะลุงหรือการละเล่นแบบแสดงเงา เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติ ที่แพร่หลายปรากฏทั้งในแถบประเทศยุโรป ตะวันออกกลางและเอเชียอาคเนย์ ดังปรากฏหลักฐานว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชมีชัยชนะแก่อิยิปต์ได้ใช้หนังตะลุงแสดง เฉลิมฉลองชัยชนะประกาศเกียรติคุณของพระองค์ หนังตะลุงมีแพร่หลายในประเทศอิยิปต์ก่อนพุทธกาล ในประเทศอินเดีย พวกพราหมณ์แสดงหนังบูชาเทพเจ้าและสดุดีวิระบุรุษ เรื่องมหากาพย์รามยณะ เรียกหนังตะลุง "ฉายานาฏกะ" ในประเทศจีนสมัยจักรพรรดิยวนตี่ (พ.ศ.๔๙๕-๔๑๑) พวกนักพรตลัทธิเต๋า ได้แสดงหนังสดุดีคุณธรรมความดีของสนมเอกผู้หนึ่งแห่งจักรพรรดิพระองค์นี้ เมื่อพระนางวายชนม์

ในสมัยต่อมา หนังตะลุงได้แพร่หลายเข้าสู่ในเอเชียอาคเนย์ เขมร พม่า ชวา มาเลเซีย และทางภาคใต้ของประเทศไทย ผู้เขียนมีความเชื่อว่า หนังใหญ่เกิดขึ้นก่อนหนังตะลุงน่าจะได้แบบมาจากอินเดีย ลัทธิพราหมณ์มีอิทธิพลต่อคนไทยมาก เราเคารพนับถือฤาษี พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม ยิ่งเรื่องรามเกียรติ์ มีบทบาทต่อคนไทยทั้งประเทศถือเป็นเรื่องขลังและศักดิ์สิทธิ์ หนังใหญ่จึงแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เริ่มแรกคงไม่มีจอ คนเชิดหนังจึงแสดงท่าทางประกอบการเชิดไปด้วยและหนังใหญ่เกิดขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหลักฐานอ้างอิงได้ว่า มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นชาวเวียงสระ จัวหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์และทางกวี พระเจ้าปราสาททอง ทรงรับสั่งเรียกตัวเข้ากรุงศรีอยุธยา ได้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาราชครู หรือพระโหราธิบดี ทรงมีรับสั่งให้พระมหาราชครูฟื้นฟูการเล่นหนังอันเป็นของเก่าแก่ขึ้นใหม่ ดังปรากฏในสมุทโฆษคำฉันท์ว่า
"ไหว้เทพยดาอา- รักษ์ทั่วทิศาดร
ขอสวัสดีขอพร ลุแก่ใดดังใจหวัง
ทนายผู้คอยความ เร่งตามใต้ส่องเบื้องหลัง
จงเรืองจำรัสทั้ง ทิศาภาคทุกพาย
จงแจ้งจำหลักภาพ อันยิ่งยวดด้วยลวดลาย
ให้เห็นแก่คนทั้งหลาย ทวยจะดูจงดูดี"
หนังใหญ่เดิมเรียกว่าหนัง เมื่อมีหนังตะลุงขึ้นในภาคใต้ รูปหนังที่ใช้เชิดเล็กกว่ามากจึงเรียกหนังที่มีมาก่อนว่าหนังใหญ่ หนังตะลุงเลียนแบบหนังใหญ่ย่อรูปหนังให้เล็กลง คงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนหนังใหญ่ เปลี่ยนบทพากย์เป็นภาษาพื้นเมือง เครื่องดนตรีจาก พิณพาทย์ ตะโพน มาเป็น ทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง โองการบทพากย์พระอิศวรหนังตะลุงก็ยังนำมาใช้อยู่ตอนหนึ่งว่า
"อดุลโหชันชโนทั้งผอง พิณพาทย์ ตะโพน กลอง
ข้าจะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู"
เครื่องดนตรีหนังตะลุง ไม่มีพิณพาทย์ ไม่มีตะโพนใช้เลย แต่เพราะเลียนแบบหนังใหญ่ จึงติดอยู่ในโองการร่ายมนต์พระอิศวร

ภาคใต้อยู่ระหว่างภาคกลางกับมาเลเซียและชวา หนังตะลุงจึงเอารูปแบบของหนังชวาที่เรียกว่า "วายัง" เข้ามาประสมประสานด้วยมือทั้ง ๒ ของหนังใหญ่เคลื่อนที่ไม่ได้ แต่ของหนังชวาเคลื่อนไหวได้ อย่างน้อยมือหน้าเคลื่อนที่ได้ รูปหนังตะลุงมือทั้ง ๒ เคลื่อนที่ เช่น รูปตลก รูปนาง ๒ แขน รูปทั่วไป มือหน้าเคลื่อนที่ รูปหนังชวาให้มีใบหน้าผิดจากคนจริง หนังตะลุงเลียนแบบ ทำให้หน้ารูปตลกผิดจากคนจริง เช่น นายหนูนุ้ยหน้าคล้ายวัว นายเท่งหน้าคล้ายนกกระงัง นายดิกมีปากเหมือนเป็ด เป็นต้น

หนังตะลุงเกิดเมื่อใด นักวิชาการถกเถียงกันมาก แต่ผู้เขียนค่อนข้างจะแน่ใจว่า หนังตะลุงเกิดขึ้นประมาณปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ ด้วยเหตุผลดังนี้

๑.สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่นิยมแต่งกลอนแปด ส่วนมากเป็นลิลิต โคลง กาพย์ พอจะมีตัวอย่างกลอนแปดคือเรื่องศิริบูลย์กิติ แต่เพิ่งมาแพร่หลายสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร กล่าวเรื่องศิริบูลย์กิติไว้ว่า

"กลอนแปดสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เพิ่งเริ่มไหวตัว ยังหาเป็นแบบประพันธ์ที่นิยมกันนักไม่"ยิ่งในภาคใต้ วรรณกรรมพื้นบ้าน ที่เป็นของรุ่นเก่าแก่ ล้วนแต่งเป็นกลอนกาพย์ทั้งสิ้น เราพอจะได้แบบกลอนแปดเมื่อหนังสืออุณรุทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑ เกิดขึ้น กลอนแปดเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายกว้างขวาง เมื่อสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีออกเผยแพร่แล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องกากี รามเกียรติ์ อิเหนา สังข์ทอง มีลักษณะคล้ายกลอนแปด หนังตะลุงที่นิยมขับร้องกลอนแปดเป็นพื้น พอจะถือเป็นแบบได้

๒.ในบทละครเรื่องสังข์ทองของรัชกาลที่ ๒ มีคำกลอนตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
"เจ้าเงาะนอนถอนหนวดสวดสุบิน เล่นลิ้นละลักยักลำนำ"
ในหนังสือสุบินคำกาพย์ ได้กล่าวถึงการเล่นหนังตะลุงไว้ดังนี้
"สมเด็จภูธร ให้เล่นละคร โขนหนังมโนห์รา"
ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ให้ความเห็นว่า หนังที่เล่นคู่กับมโนห์รา ไม่ใช่หนังใหญ่ น่าจะหมายถึงหนังตะลุง
เรื่องนางแตงอ่อน วรรณกรรมท้องถิ่น มีข้อความกล่าวไว้ว่า
"โขนละครหุ่นหนัง โนราร้องดัง รับเพลงยวนดีตีเก้ง"
แสดงว่าในวรรณกรรมเรื่องนี้มีทั้งหนังตะลุงและมโนห์รา และเรื่องนางแตงอ่อน คงแต่งก่อนที่หนังมีชื่อใหม่ว่าหนังตะลุง
หนังจากภาคใต้เข้าไปเล่นในกรุงเทพฯครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นที่แถวนางเลิ้ง หนังที่เข้าไปครั้งนั้น ไปจากจังหวัดพัทลุง คนกรุงเทพฯจึงเรียกหนัง "พัทลุง" ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็นหนังตะลุง หนังที่เข้าไปกรุงเทพฯครั้งนั้น น่าจะเป็นหนังโรงที่ ๓ สืบจากหนังหนุ้ยโรงที่ ๑ หนักทอง หนังก้อนทอง เล่นคู่กันโรงที่ ๒ ดังบทไหว้ครูหนังแต่งโดยนายลั่นตอนหนึ่ง กล่าวไว้ว่า
"นายทองเกื้อที่สามขึ้นตามต่อ วิชาพอเชิดยักษ์ชักฤาษี
มุตโตสดศัพท์เสียงสำเนียงดี รูพาทีโอดครวญรูปนวลนาง
เขาออกชื่อลือดังหนังทองเกื้อ เล่นดีเหลือจนรุ่งพุ่งสว่าง
มีวิชาพากายไม่จืดจาง จนชาวบางกอกรับไปนับนาน"
ดูถึงฝีมือนายช่างแกะรูปหนัง น่าจะเลียนแบบรูปภาพเรื่องรามเกียรติ์ ที่ผนังกำแพงวัดพระแก้ว เพราะหนังรุ่นแรกล้วนแสดงเรื่องรามเกียรติ์เป็นพื้น ช่างแกะรูปหนังคงถ่ายทอดแบบมาในสมัยรัชกาลที่ ๒

หนังตะลุงโรงแรกของภาคใต้เกิดขึ้นที่จังหวัดใด นักวิชาการยังหาข้อยุติไม่ได้ ผู้เขียนเป็นชาวพัทลุง ไม่ได้ช่วงชิงให้หนังตะลุงเกิดที่พัทลุง แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว หนังโรงแรกน่าจะเกิดที่พัทลุง โดยมีข้ออ้างอิงดังนี้

๑.ถ้านายหนุ้ย นายหนักทอง นายก้อนทอง เป็นนายกองช้าง เดินทางระหว่างนครศรีธรรมราชกับเมืองยะโฮ ต้องผ่านพัทลุง เพราะผ่านทางสงขลาไม่ได้ มีทะเลสาบตอนออกอ่าวไทยกั้นขวาง การหยุดพักกองช้าง ก็น่าหยุดพักที่พัทลุงมากกว่าหยุดพักที่สงขลา

๒.การตั้งชื่อคนพัทลุง ชื่อหนุ้ยกันมากทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หนุ้ย หมายถึงเด็กเล็กๆ ถ้าเป็นผู้ชายก็เรียกว่าอ้ายหนุ้ย อ้ายตัวหนุ้ย ถ้าเป็นผู้หญิงก็เรียกว่าอีตัวหนุ้ย อีหมานุ้ย อีนางหนุ้ย เด็กที่มีอายุ ๗-๘ ปี แล้วยังงอแงกับพ่อแม่เรียกว่าทำหนุ้ย แม้ในปัจจุบันผู้ชายที่เรียกชื่อว่านายไข่หนุ้ยยังมีอีกจำนวนมาก นายหนุ้ยหนังโรงแรกจึงน่าจะเป็นชาวพัทลุง

๓.จากบทไหว้ครูของนายลั่น ตอนหนึ่งที่กล่าวว่า
"ออกโอษฐ์อ้าสาธกยกนิทาน เป็นนับนานหนังควนแต่เดิมมา
ถิ่นที่อยู่แหลมมะลายูทิศตะวันออก เป็นบ้านนอกอาคเนย์บูรทิศา
ชื่อบ้านควนเทียมทิมริมมรรคา ถางไร่ป่าปลูกผลตำบลนาน
มีพวกแขกปนไทยในบ้านนี้ อยู่เป็นที่เป็นถิ่นบุตรหลินหลาน
แต่นายหนุ้ยคนไทยใจเชี่ยวชาญ หัดชำนาญตีทับขับเป็นกลอน
แล้ววาดรูปขูดแกะแลพิลึก ช่างโตถึกเรียนรู้ไม่ครูสอน
รู้ต่างต่างอย่างเทพสิงหรณ์ ได้ฝึกสอนเริ่มชิดติดต่อมา"


ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการเกิดหนังขึ้นนั้น พัทลุงตั้งเมืองที่เขาไชยบุรี ต.บ้านควนมะพร้าว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมืองในสมัยนั้น มีเส้นทางใหญ่ผ่านทางทิศเหนือบ้านควนมะพร้าว จากลำปำไปจังหวัดตรังสำหรับเป็นทางช้างเดินเท้า เส้นทางนี้คือ ถนนพัทลุงตรังในปัจจุบัน พระยาบังส้นผู้ครองเมืองเป็นแขก จึงมีแขกจากปัตตานีมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดพัทลุงทั่วไป นานเข้าลูกหลานก็มีวัฒนะธรรมคล้ายคนไทย พระยาพัทลุง (ขุน) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากสุไลมานได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ที่บ้านควนมะพร้าวจึงมีพวกแขกปะปนอยู่ด้วย หนังนุ้ยน่าจะเป็นชาวบ้านควนมะพร้าว จึงเรียกหนังตะลุงสมัยนั้นว่า "หนังควน"

๔.นักวิชาการหลายท่าน เห็นพ้องกันว่าหนังทองเกื้อโรงที่ ๓ ที่แสดงที่กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นหนังที่พระยาพัทลุง (เผือก) นำไปจากเมืองพัทลุง ขณะนั้นพัทลุงตั้งเมืองอยู่ที่ลำปำแล้ว บ้านควนมะพร้าวอยู่ห่างจากลำปำไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒ กิโลเมตร เนื่องจากพระยาพัทลุง (เผือก) มีอายุมากแล้ว รัชกาลที่ ๓ จึงโปรดเกล้าให้รับราชการที่กรุงเทพฯ พระราชทานที่บ้าน สนามควาย (บริเวณตลาดนางเลิ้งในปัจจุบัน) เป็นที่อยู่อาศัย หนังทองเกื้อชาวบ้านควนมะพร้าว ใกล้ชิดกับพระยาพัทลุง (เผือก) มาก ไปอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลานานปี ดังบทไหว้ครูว่า
"มีวิชาพากายไม่จืดจาง จนชาวบางกอกรักไปนับนาน"
๕.จากหนังควนเป็นหนังตะลุง มีเหตุผลตามข้อ ๔ แล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ในตำนานละครอิเหนาว่า พวกบ้านควนมะพร้าว แขวงจังหวัดพัทลุง คิดเอาหนังแขกชวามาเล่นเป็นเรื่องไทยขึ้นก่อน แล้วจึงแพร่หลายไปที่อื่นในมณฑลนั้น เรียกกันว่าหนังควน เจ้าพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พาเข้ามากรุงเทพฯ ได้เล่นถวายตัวที่บางปะอินเป็นครั้งแรก เมื่อปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙ แม้พระองค์จะทรงกล่าวไว้ว่าหนังตะลุงเป็นของใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นออกจะค้านที่พระองค์ทรงบันทึกไว้ แต่ลองคิดถึงความเป็นจริง หนังตะลุงที่กล้าเล่นถวาย ต้องฝึกฝนมาอย่างชำนาญ มีครูหนังมาก่อนแล้ว หนังตะลุงจึงเกิดขึ้นก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ แน่นอน

๖.จังหวัดพัทลุงเสมือนหนึ่งเป็นศูนย์กลางของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และสงขลา เมื่อเกิดหนังตะลุงขึ้นที่พัทลุงก็แพร่หลายไปยังจังหวัดใกล้เคียงได้ง่าย จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ จนถึงปัจจุบัน มีคณะหนังตะลุงเป็นจำนวนมาก จากเหตุผลดังกล่าวแล้ว น่าจะได้ข้อยุติว่าใครเป็นหนังตะลุงโรงแรก เกิดขึ้นเมื่อใด ทำไมจึงมีชื่อว่า "หนังตะลุง"

นอกจากหนังตะลุงเป็นศิลปะพื้นเมืองของภาคใต้แล้ว ยังแพร่หลายไปยังภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ทำนองพากย์และเครื่องดนตรีประกอบการเชิด ผิดแผกแตกต่างกันไปตามสำเนียงภาษา ตามความนิยมของภาคนั้นๆ และไม่มีหนังตะลุงจำนวนมากเหมือนในภาคใต้

คำนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกเกี่ยวกับหนังตะลุงหนังตะลุง เรียกชื่อสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงไว้โยเฉพาะ เป็นภาษาถิ่น คนไทยภาคอื่นๆ แม้คนภาคใต้รุ่นใหม่ฟังแล้วไม่เข้าใจความหมาย จึงต้องให้คำนิยามไว้ เมื่อกล่าวถึงคำใดในเรื่องต่อไปไม่ต้องอธิบายความหมายอีก ภาษที่ใช้เกี่ยวกับหนังตะลุง มีดังนี้
๑.นายหนัง คือ ผู้แสดง รับผิดชอบอุปกรณ์ การแสดงทุกชิ้น รับผิดชอบเรื่องพาหนะเดินทาง ตลอดการกินของผู้คนทั้งคณะ
๒.ลูกคู่ คือผู้ประโคมดนตรีประกอบการแสดง คณะหนังโรงหนึ่งมี ๖ -๘ คน รับผิดชอบถืออุปกรณ์ต่างๆ ประโคมดนตรีตามความถนัดของตน
๓.ขันหมาก คือเครื่องบอกให้นายหนังทราบว่า มารับหนัง หรือมาว่าจ้างไปทำการแสดง โดยนำหมากพลูใส่ขัน ยื่นให้นายหนัง บอกวันเวลาและสถานที่ ถ้านายหนังรับไว้ เรียกว่ารับขันหมาก หากมีผู้มารับไว้ก่อนแล้ววันเวลาตรงกัน นายหนังบอกว่าติดขันหมาก รับขันหมากไว้แล้ว เกิดเหตุสุดวิสัยไปแสดงไม่ได้ เช่น ล้มป่วยลง ต้องให้คนนำขันหมากที่รับไว้ไปมอบให้แก่ผู้รับเรียกว่าคืนขันหมาก
๔.ราด คือเงินค่าว่าจ้างไปแสดงหนังตะลุง ในสมัยก่อนคืนละ ๙ บาท ๑๒ บาท ๑๕ บาท ในปัจจุบันคืนละ ๖,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ บาท ถ้าผู้ว่าจ้างไม่ให้ตามตกลง เรียกว่า บิดราด
๕.ยกเครื่อง คือการเตรียมลูกคู่ เครื่องประโคมดนตรีให้พร้อม ก่อนออกเดินทางมีการประโคมดนตรี ๑ เพลง
๖.ตั้งเครื่อง เมื่อไปถึงสถานที่แสดง มีผู้รับขันหมากแล้ว คณะหนังขึ้นโรง ประโคมดนตรี ๑ เพลง นอกจากตรวจดูความพร้อมแล้ว เสียงกลองและโหม่งดังไปไกล เนการโฆษณาให้ผู้คนมาชมหนังด้วย จากนั้นลูกคู่เตรียมขึ้งจอ
๗.แก้แผง หรือ แตกแผง เป็นหน้าที่ของคนถือแผงวางเป็นระเบียบ ฤาษี พระอิศวรปักหัวหยวก รูปตลกสำคัญปักปลายหยวก ไม่ให้เกิดเงาขึ้นบนจอ รูปพระอินทร์เหน็บหลังคา รูปพระรูปนาง ปักกับหยวกทางด้านขวา รูปยักษ์ รูปสัตว์ ปักกับหยวกทางด้านซ้าย ในปัจจุบันใช้เชือกขึงระหว่างฝา ๒ ด้าน ห่างจากจอประมาณ ๑.๕ เมตร ใช้ส่วนบนสุดของมือรูปแขวนกับเชือกเป็นแถว สะดวกในการหยิบใช้
๘.เบิกโรง คือการประกอบพิธีกรรมบูชาครู มีอาหารหวาน คาว เหล้า บรรจุถ้วยเล็กๆใส่รวมกันในถาด เรียกว่า ที่ ๑๒ นอกนั้นมีผ้าขาว ๑ ผืน หมากพลู ๙ คำ เทียน ๙ เล่ม นายหนังหรือหมอประจำโรง ทำหน้าที่เบิกโรง ตั้งนโม ๓ จบ ตั้งสัดเคชุมนุมเทวดาไหว้สวัสดี รำลึกถึงครูบาอาจารย์ ปักเทียนที่ ทับ กลอง โหม่ง ปาหมากเข้าในทับ นายหนังเคาะทับเบาๆ เป็นจบพิธีเบิกโรง
๙.ลงโรง คือโหมโรงก่อนการแสดง หลักจากเบิกโรงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เริ่มด้วยตีกลอง ตามด้วยโหม่ง ฉิ่ง ปี่ ทับ ปี่จะเป่าเพลงพัดชา ตามด้วยเพลงไทยเดิม ทับนำจังหวะ เครื่องดนตรีหนังสามารถยักย้ายให้เร็วหรือช้าได้ ในอดีตลงโรง ๑๒ เพลง เชิด ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ออกรูปฤาษี
๑๐.ออกรูปหรือชักรูป คือการเชิดรูปทับกับจอ ตามอิริยาบทของรูปหรือตัวละครแต่ละตัว เชิดรูปเดิน เหาะ รบ แปลงกาย ร่ายมนต์ โศกเศร้า คร่ำครวญ
๑๑.ไม้ตับ คือ ไม้หนีบรูปหนังให้ทรงตัวอยู่ได้ โคนไม้ตับใหญ่กว่าส่วนปลาย มีความยาวห่างจากตีนรูปประมาณ ๗ นิ้ว ปลายแหลมสำหรับปักรูปบนหยวกกล้วย ไม้ตับทำด้วยไม้ไผ่
๑๒.ไม้มือรูป ทำด้วยไม้ไผ่ เกลากลมขนาดโตกว่าหัวไม้ขีดไฟ ยาวประมาณ ๑๒ – ๑๔ นิ้ว ปลายข้างหนึ่งขอดให้กิ่ว เพื่อผูกเชือกหนักร้อยกับมือรูป บังคับให้มือเคลื่อนไหวได้
๑๓.รูปกาก คือรูปตลกต่างๆ พูดจาหรือแสดงท่าทางขบขันเอาเนื้อหาสาระไม่ได้ คนที่พูดจาเหลวไหลสำนวนชาวบ้าน เรียกว่า “ออกกาก

๑๔.ชักปาก คือดึงปากส่วนล่าง ให้อ้าขึ้นลงได้ มีคันเบ็ดทำด้วยไม้ไผ่ หรือเขาควายผูกติดกับไม้ตับตรงส่วนหัวของรูป ปลายสุดคันเบ็ด ผูกเชือกมาร้อยกับริมฝีปาดล่างของรูป ดึงเชือกลงปากจะอ้าออก ปล่อยเชือกริมฝีปากล่าง จะอยู่ติดสนิทกับริมฝีปากบนพอดั รูปบางตัว มีริมฝีปากยาว เช่น นายดิก ชักให้เคลื่อนไหวได้ทั้งริมฝีปากบนและล่าง
๑๕.รูปนุด คือรูปมนุษย์ผู้ชาย ที่คู่กับ รูปนาง ที่เป็นมนุษย์ผู้หญิง ที่นำมาเชิดเป็นตัวพระเอก พระรอง นางเอก นางรอง
๑๖.กินรูป คือนายหนังพากย์และเชิดรูปนั้น เข้ากับนิสัยของตัวละครได้ดี ทั้งสำเนียง และท่าทาง ทำให้การเชิดมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริงๆ
๑๗.เบิกปากรูป คือก่อนออกรูปบนจอ เอาปากรูปมาทาบกับปากนายหนัง ว่าคาถา “ออ อา ออ แอ” เป็นเสียงร้องของเด็กทารก ทำให้คนดูเกิดความสงสาร ส่วนรูปตลกให้คาถาเกี่ยวกับอวัยวะเพศชาย หญิง เพื่อให้เกิดความขบขัน๑๘.ลงจอ ใช้แป้งที่ปลุกเสกแล้ว เขียนด้วยนิ้วที่จอ คาถา หรือ อักขระที่นิยมกัน คือ “ฤ ฤๅ มะ อะ อุ ฦ ฦๅ” ทำให้ชื่อเสียงของหนังเป็นที่เลื่องลือโด่งดัง
๑๙.ผูกดวงใจ ใช้มีดครูแทงหยวกเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ลึกประมาณนิ้วครึ่ง ฝังหมาก 1 คำ ปิดหยวกตามรูปเดิม ปลายนิ้วมือกดลงตรงรอยหยวก บริกรรมคาถาผูกดวงใจคนดู ๓ จบ “อิตถีโย ปุรุสโส ตะรุโณ โรตันตัง จาระตัง เร เรรัง เอหิ อะคัตฉายะ อะคัตฉาหิ”

๒๐.กันตัว คือการบริกรรมคาถาในขณะลูกคู่ลงโรง นั่งยกเข่าทั้ง ๒ ขึ้น ปลายคางวางบนเข่า มือขวาวางบนกระหม่อม มือซ้ายจับที่ประตูลมของเท้า คาถาว่าไม่เหมือนกัน ที่นิยมกันทั่วไปว่า “นะกันซ้าย โมกันขวา พุทกันหน้า ทากันหลัง ยะกันกระหม่อม นะปกนะป้อง นะล้อมนะกัน นะกันตัวกู โอม นะ โม พุท ธา ยะ” บางคนเสกด้วยอักขระ๑๖ ลูบขึ้น เรียกว่าพาขึ้นเพื่อให้มีความมั่นใจ มีความคึกคะนอง อยากแสดง๒๑.ผูกขี้ผูกเยี่ยว คือป้องกันมิให้ถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะในขณะที่แสดง คาถาว่า “โอมปิดทวารังทั้งเก้าน้ำไม่ให้เข้าลมไม่ให้ออก”๒๒.ตัดเหมรย คือการแก้บน เหมรยเป็นข้อตกลงที่ห้ไว้กับสิ่งที่เร้นลับ เมื่อบรรลุเป้าประสงค์ ก็นำหนังตะลุงมาแสดงตัดเหมรย ห่อเหมรยที่บรรจุหมากพลู มอบให้แก่นายหนัง การตัดเหมรยต้องแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ปัจจุบันยกเอาตอนใดตอนหนึ่งมาแสดงพอเป็นพิธี เช่น ตอนพระรามแผลงศรไปสังหารทศกัณฑ์ ดนตรีทำเพลงเชิด มีพระอินทร์มาเป็นสักขีพยานด้วย ฤาษีจับห่อเหมรยขึ้น นายหนังถือเขียน ตัดห่อเหมรยด้วยมีดครู บริกรรม รมคาถาตัดเหมรยว่า “พุทธัง ปัจจักขามิ เดนิพะวัง อิมังเรถะ ตัสสะธัมมัง ปัจจักขามิ เดนิพะวัง อิมังเรถะ ตัสสะ สังฆัง ปัจจักขามิ เดหิพะวัง อิมังเรถะ ตัสสะ” เจ้าภาพจุดเทียนหน้าโรงหนัง ประกาศแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนมีข้อตกลงไว้โดยสมบูรณ์ถูกต้องแล้ว
๒๓.หลบรูป คือนำเอารูปออกจากจอ เมื่อจบตอนนั้น หรือหลบรูปเพื่อเปลี่ยนท่าเชิดใหม่
๒๔.เสียงเข้าโหม่ง เสียงกลมกลืนกับเสียงโหม่ง เวลาเลยบท หรือเวลาเอื้อนเสียงหนังเสียงเข้าโหม่งเป็นที่นิยมของมหาชนตลอดมา
๒๕.ขึ้นเครื่อง ลูกคู่บรรเลงดนตรีรับเมื่อนายหนังขึ้นบท
๒๖.ลงเครื่อง คือหยุดเครื่องประโคมดนตรี เมื่อนายหนังขึ้นบท
๒๗.ขับบท คือ การร้องบทกลอนเป็นทำนอง เช่น ทำนองสงขลา ทำนองสงขลากลาย ทำนองพัทลุง – ตรัง ทำนองคอน (นครศรีธรรมราช)๒๘.เจรจา คือ การใช้ภาษาพูดระหว่างตัวละคร เจ้าเมือง นางเมือง ตัวพระตัวนาง เจรจาด้วยภาษากลาง รูปกากใช้ภาษาถิ่น๒๙.ขึ้นบท เมื่อขับบทวรรคแรก เอื้อนเสียงซ้ำ 3 พยางค์ท้ายวรรคดังตัวอย่าง
“ขอย้อนกล่าวเทพารักษ์ผู้ศักดิ์สิทธ์ (เอื้อนเสียง) ผู้ศักสิทธิ์ ลูกคู่ขึ้นเครื่องรับแล้วลงเครื่อง นายหนังขับบทต่อจากวรรคแรก ใช้เฉพาะโหม่งกับฉิ่งประกอบจังหวะ

๓๐.ถอนบท คือ การเอื้อนเสียง เมื่อขับไปได้ ๔-๕ คำกลอน เพื่อช่วยให้การขับบทไม่จืดชืด ดังตัวอย่าง
“เจ้าฟ้าชายพลากรตอนประพาส เยี่ยมเยือนราษฎร์ในชนบทกำหนดหมาย
ปลอมพระองค์ทรงจำแลงตกแต่งกาย ดูละม้ายคล้ายบุคคลธรรมดา
แดนกับดารที่ไหนไปที่นั่น ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงจึงอาสา
น้ำพระทัยไหลหลั่งพระเมตตา แก้ปัญหาช่วยเหลือจุนเจือจาน”

ได้ประสบพบความจริงยิ่งฉงน (เอื้อนเสียงร้องซ้ำ ๓ พยางค์หลัง) “ยิ่งฉงน” ลูกคู่ขึ้นเครื่อง เมื่อบรรเลงเพลงจบหรือลงเครื่อง นายหนังขับบทต่อไป คงใช้แต่โหม่งกับฮิ่งประกอบจังหวะ
๓๑.เลยบท คือ การเอื้อนเสียง หรือกระแทกเสียงบทกลอนวรรคสุดท้าย เมื่อขับบทจบตอนนั้นๆ เลยบทจำแนกได้ ๔ ลักษณะ๓๑.๑ เลยบทเพื่อออกเดินทาง ดังตัวอย่าง
“หนูนุ้ย เท่ง วรินยา โศกจาบัลย์ เที่ยงตะวันต่างกราบลาสองตายาย” (เอื้อนเสียงร้องซ้ำ) เที่ยงตะวันต่างกราบลาสองตายาย ดนตรีทำเพลงเดิน แล้วหลบรูปเข้าฉาก
๓๑.๒ เลยบทเพื่อดำเนินเรื่องตอนต่อไป ลีลาขับบทเหมือนเลยบทตอนเดินทางดังตัวอย่าง
“ยิ่งคิดยิ่งอนาจขาดมาดร ขอตัดตอนจำแนกแตกนิยาย” (เอื้อนเสียงร้องซ้ำวรรคหลัง)
ขอตัดตอนจำแนกแตกนิยาย ดนตรีขึ้นเครื่อง หลบรูปเข้าฉาก ดนตรีเปลี่ยนเป็นบรรเลง
เพลงใหม่
๓๑.๓ เลยบทเศร้า เช่น สลบ ร้องไห้ ลีลาขับร้องบทวรรคสุดท้าย อ้อยอิ่งคร่ำครวญ ดังตัวอย่าง “แต่พอได้เห็นหน้าสองตายาย กอดลูกชายแน่นิ่งทอดทิ้งตัว” เอื้อนเสียงตั้งแต่คำว่า “แน่นิ่ง” ลากเสียงให้ยาว “ทอดทิ้งตัว” ดนตรีขึ้นเพลงโอด

๓๑.๔ เลยบทเชิด เช่นบทเหาะ บทรบ บทแปลงกาย สาป บทแผลงศร ชุบคนตายให้เป็น ร่ายเวทมนต์ ต้องกระแทกเสียง ๓ พยางค์วรรคสุดท้ายของบทร้อง เพื่อให้ดูขึงขัง จริงจัง ดังตัวอย่าง
“ท่องนะมะอะอุจบครบสามครา สาปศุลีเป็นนางบ้าวิ่งฝ่าดง” กระแทกเสียง “วิ่งฝ่าดง” ดนตรีทำเพลงเชิด๓๒.ตลกรูปใหญ่ คือรูปเจ้าเมือง นางเมือง ฤาษี เทวดา สามารถพูดให้คนดูเกิดความขบขันได้เหมือนรูปกาก
๓๓.ลำลาบ คือ หนังแสดงเชื่องช้า นำเรื่องไม่เป้นสาระมาพูด ขับกลอนยาวเกินไป เล่นดนตรีนานเกินไป๓๔.เสียงเข้าโหม่ง คือ เสียงจากนายหนังขับบทกลมกลืนกับเสียงโหม่ง ฟังแล้วแยกไม่ออก ว่าเป็นเสียงของนายหนังหรือเสียงโหม่ง เวลาเอื้อนเสียงหรือเลยบท ฟังไพเราะ รื่นหู เป็นที่นิยมของคนดูทั่วไป
๓๕.โลนหนัง คือ การทำลายสมาธิของนายหนัง เกิดความไม่พอใจ หรือต้องการลองใจ เกิดจากความคึกคะนองของวัยรุ่น ด้วยการส่งเสียงเฮฮา การต่อบทกลอน ข้าวงด้วยไข่ไก่เน่า นายหนังต้องหยุดแสดง ที่อดโทสะไม่ได้ลงมาสู้รบกับคนดูหน้าโรง ก็เคยมีบ่อยๆ
๓๖.ดับแผง คือ การจัดรูปเข้าแผง หลักจากเลิกการแสดงแล้ว เป็นหน้าที่ของนายแผง หรือคนถือแผง จากดับแผงรูปหนังกลายเป้นสำนวนชาวบ้าน มีความหมายว่าอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว อาจเกิดอันตราย ให้รีบเก็บข้าวของออกเดินทาง
โรงหนังตะลุง
ในอดีต ตามวัดใหญ่ๆ จะสร้างโรงหนังไว้อย่างถาวร เพราะในวัดมีงานต่างๆอยู่บ่อยๆ เช่น งานศพ
งานบวชนาค เมื่อหนังเดินโรงมาขอหยุดพัก จะได้แสดงทันที โดยทั่วไปโรงหนังจะปลูกขึ้นชั่วคราว หนังเลิกแสดงแล้วก็รื้อออกไป โรงหนังประกอบด้วยเสา ๔ เสา เสาค้ำกลางอีก ๒ เสา โคนฝังเสาดินลึกประมาณ ๖๐ เซนติเมตร สูงจากพื้นดินถึงพื้นโรงประมาณ ๑.๖๐ เมตร กว้าง ๒.๕ เมตร ยาว ๓.๕ - ๔ เมตร หลังคาเป็นแบบเพิงหมาแหงน ด้านหน้านิยมหักหัวตั๊กแตนป้องกันฝนสาดจอหนัง หลังคาด้านหน้าสูงจากพื้นโรงประมาณ ๒ เมตร ด้านหลังสูง ๑.๕๐ เมตร หลังคามุงด้วยจากหรือกระแซงที่เย็บด้วยใบเตย พื้นผูด้วยฟากไม้ไผ่ หรือฟากไม้หมาก ปูด้วยกระดานก็ได้ ไม่ตรึงตะปู ด้านหน้าของพื้นโรงต่ำกว่าด้านหลังเล็กน้อย ฝา ๒ ข้าง ด้านหลังกั้นด้วยใบมะพร้าวสด ฉีกทางออกเป็น ๒ ซีก และใช้ใบมะพร้าวติดตีนจอ และ ๒ ข้างจอมีไม้ไผ่ผูกไว้ทั้ง ๔ ด้านเพื่อขึงจอประตูขึ้นลงอยู่ด้านหลัง ใช้ไม้อันหนึ่งพาดเป็นบันได พื้นโรงปูด้วยเสื่อกระจูด

เสาโรงหนังมีค่าคบหรือง่ามไม้เพื่อรับคานหรือรอด ในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากป่าไม้ หาเสามีง่ามไม่ได้นิยมใช้ต้นหมากทำเสา ใช้เชือกผูกคานเข้ากับเสาโดยวิธีขันชะเนาะเชือกทำด้วยทางระกำสด ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป นำมาทุบด้วยไม้ ตั้งแต่โคนตลอดปลาย ดึงไส้ในออก แล้วตะบิดเป็นเกลียว ผูกเข้ากับเสา ใช้ไม้กลมสอดขึ้นให้แน่น ภาษาถิ่งเรียกว่า “ขัดน่องควาย”

แม้จะปลูกเป็นโรงหนังชั่วคราวต้องมั่งคนแข็งแรง เกิดโรงทรุดหรือหัก ถือเป็นเรื่องอัปมงคลอย่างร้ายแรง เจ้างานหรือผู้รับ ต้องหาหมอมาทำพิธีคล้องนายหนัง และต้องเสียเงินราดเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า นายหนังเรียกค่าเสียหายได้ตามพอใจถ้ามีผู้บาดเจ็บ เจ้างานต้องรับผิดชอบเยียวยารักษานายหนังส่วนมากมีความเชื่อทางไสยศาสตร์อย่างเคร่งครัด ถ้าสถานที่สร้งโรงหนังไม่ต้องตามตำรา ถึงกับไม่ยอมแสดง สถานที่ปลุกโรงต้องเลือกที่โล่งแจ้ง ไม่ปลูกคร่อมราวตากผ้าคร่อมต้นไม้ใหญ่ คร่อมคูน้ำ คร่อมจอมปลวก คร่อมคันนา ไม่ปลูกระหว่างต้นไม้ใหญ่ ไม่ปลูกในอาณาเขตของป่าช้า ไม่หันหน้าโรงไปทางทิศตะวันตก ไม่หันหน้าโรงไปสู่ที่ตั้งโรงศพ ไม่หันท้ายโรงไปทางป่ารกชัฏ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจดีย์ พระธาตุ อนุสาวรีย์ เขื่อน ( บัวบรรจุอัฐิบุคคลสำคัญ )เป็นต้น

ในการแข่งขันประชันโรง ต้องมีรั้วล้อมรอบ ๔ ด้าน ติดไฟให้แสงสว่างใต้ถุนโรงเพื่อป้องกันฝ่ายตรงข้ามมาใช้คุณไสย

การปลูกโรงหนังในปัจจุบัน ใช้ถังน้ำมันต่างเสา เพราะไม้หายาก หนังสมัยใหม่เคร่งครัดทางคุณไสย โรงลูกที่ไหนก็ได้ ให้หน้าโรงมีความกว้างขวาง คนดูนั่งดูได้จำนวนมากๆ และเดี๋ยวนี้มีโรงสำเร็จรุปติดตั้งได้รวดเร็ว มีรถบรรทุกนำส่งทุกสถานที่ คิดค่าเช่าคืนล่ะ ๑,๕๐๐- ๒,๐๐๐ บาท
...............................................
จอหนังตะลุงจอหนังตะลุงทำด้วยผ้าขาวบาง ซึ่งด้านหน้าของโรงหนัง ทาบรูปเชิดเล่นเงา และปิดกั้นไม่ให้คนหน้าโรงมองเห็นภายในโรง ขนาดกว้าง 1.8 - 3 เมตร หนังหลายคณะในปัจจุบันนิยมใช้จอขนาด 2 - 4 เมตร ความกว้างของจอหนังแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เหนือตะเข็บ 1 ส่วน เป็นเขตสวรรณค์ รูปที่เชิดในเขตนี้ได้ต้องเป็นรูปเทวดา เช่น พระอิศวร พระอินทร์ นางฟ้า และรูปที่มีอิทธิฤทธิ์ เช่น เหาะได้ หรือเชิดรูปฤาษีเป็นต้น ใต้ตะเข็บลงมา 2 ส่วน เป็นเขตมนุษย์จะเชิดรูปสามัญธรรมดา ให้เลยบางส่วนที่เย็บผ้าไม่ได้

ในอดีตใช้ผ้าขาวทั้งผืน ต่อมาเพื่อให้เกิดความสวยงามแข็งแรง ใช้ผ้ามอบผ้าสีแดงหรือน้ำเงินซึ่งมีความหนากว่าจอ โดยรอบทั้ง 4 ด้าน ความกว้างของผ้ามอบประมาณ 6 นิ้ว เพื่อสอดห่วงตรงริมขอบห่างกันเป็นระยะประมาณ 10 นิ้ว เพื่อสอดลำไม้ไผ่ขันจอให้ตึงทั้ง 4 ด้าน ต่อมาเปลี่ยนเป็นร้อยเชือกกับตะเข็บริมนอก ใช้สำหรับขึงจอเรียกว่า”หนวดราม”

จอเปลี่ยนจากผ้าขาวธรรมดามาเป็นจอแพร เปลี่ยนจากโหม่งลูกฟากมาเป็นโหม่งหล่อ (รูปลักษณะเหมือนฆ้องวง) หล่อจากเมืองนครศรีธรรมราช หนังตะลุงที่ใช้โหม่งหล่อโรงแรกคือ หนังอิ่มห้วยลึก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นศิษย์ของหนังเอี่ยมเกาะยอ จังหวัดสงขลา บทไหว้ครูของหนังครูแจ้ง กล่าวถึงหนังอิ่มห้วยลึกไว้ว่า
“ ไหว้หนังอิ่มห้วยลึกชื่อกึกก้อง นึกดายของท่านตายไม่ได้เห็น
เชี่ยวเชิงเช่นเมธีมีเปอเซ็นต์ ยกให้เป็นแบบพิมพ์อิ่มจอแพร”
นอกจากใช้ผ้าแดงมอบขอบจอ ใช้โหม่งหล่อเป็นหนังโรงแรกแล้ว อิ่มห้วยลึกยังใช้ซอคู่ ปี่ เป็นโรงแรกด้วยดังบทไหว้ครูที่แต่งโดยนายลั่น ตอนหนึ่งว่า
“ ท่านนายเอี่ยมเกาะยอพอใจสั่ง นายอิ่มหนังพากเพียรเรียนเป็นศิษย์
อยู่อำเภอปากพะยูนบูรพาทิศ จังหวัดติดพัทลุงชาวทุ่งนา
นามสกุลโกไสยกานนท์ ประชาชนขึ้นชื่อลือฉาวฉ่า
เปลี่ยนสมัยวัยดีมีปัญญา วิธีว่าตั้งเมืองเดื่องโด่งดัง
ครวญเมื่อนางพลัดผัวจนหัวคล้อย แสนละห้อยชาติเรี่ยมแทนเอี่ยมหนัง
เล่นทีไรชอบหูหมู่ชนัง ผู้หญิงฟังทอดสนิทจิตรักโรย
น้ำเสียงใสใยเยื่อเมื่อออกยักษ์ พอลงวรรคหยุดสำเนียงขึ้นเสียงโห้ย
ประพฤติดีมีกระจ่างมิร้ายโรย เล่นไปโดยตามสมัยชอบใจชนา
พี่คิดซื้อโหม่งหล่อจอเลียบแดง แล้วเปลี่ยนแปลงปี่ซอเพราะหนักหนา
ทิศเหนือใต้ตลอดไปถึงไชยา จบสงขลา พัทลุง ฟุ้งกระจาย

จอหนังเริ่มมีเครื่องประดับตกแต่ง ให้เกิดความงดงามด้วยฉากและแสงไฟ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2500 ล่วงแล้ว ฉาก 2 ข้างเขียนเป็นรูปทิวทัศน์หรือกนกลวดลาย ฉากด้านล่างมีขนาดใหญ่ประมาณเท่าครึ่ง มีไฟสีประดับประดาบอกยี่ห้อ หรือชื่อบริษัทห้างร้านผู้เอื้อเฟื้อมอบฉากไว้ให้อย่างชัดเจน ด้านบนจอมีม่านหรือป้าย มีความยาวเท่ากับความยาวของโรงหนัง เขียนตัวอักษรโต ประดับด้วยแสงไฟสีสันสะดุดตา บอกชื่อคณะหนัง เช่น “หนังพร้อมน้อย ตะลุง สากล” “หนังจูลี่ เสียงเสน่ห์” “หนังประทุม เสียงชาย” หนังพร้อมน้อยตะลุงสากลเป็นผู้นำมาใช้เป็นโรงแรก หนังโรงอื่นๆ ก็เอาอย่างมีฉากประกอบจอทุกคณะ การใช้ฉากใช้ม่านประกอบจอหนังทำให้ช่างเขียนภาพเกิดมีอาชีพเขียนฉากขึ้นอีกอาชีพหนึ่ง
.................................................
รูปหนังตะลุงรูปหนัง เป็นอุปกรณ์สำคัญในการแสดงหนังตะลุง หนังคณะหนึ่งๆ ใช้รูปหนังประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ ตัว หนังตะลุงแกะโดยนายช่างผู้ชำนาญ ในจังหวัดหนึ่งๆ ของภาคใต้ มีเพียง ๒-๓ คนเท่านั้น ต้นแบบได้มาจากรูปหนังใหญ่ เพราะรูปเก่าแก่ที่เหลืออยู่เท้าเหยียบนาค มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีไปแล้ว ต้นแบบสำคัญคือรูปเรื่องรามเกียรติ์ที่ฝาผนังรอบวัดพระแก้ว ผสมผสานกับรูปหนังของชวา ทำให้รูปกะทัดรัดขึ้นและมือหน้าเคลื่อนไหวได้ รูปหนังจะจัดเก็บไว้ใน แผงหนัง โดยวางเรียงอย่างเป็นระเบียบและตามศักดิ์ของรูป นั่นคือ เอารูปเบ็ดเตล็ดและรูปตลกที่ไม่สำคัญซึ่งเรียกรวมกันว่า รูปกาก ไว้ล่าง ถัดขึ้นมาเป็นรูปยักษ์ พระ นาง เจ้าเมือง ตัวตลกสำคัญ รูปปรายหน้าบท พระอิศวร และฤาษี ตามลำดับ





กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะ ช่างภาคใต้ที่ไปพบเห็นก็ถ่ายทอดมาเป็นแบบ ช่างราม เป็นช่างแกะรูปหนังที่เก่าแก่คนหนึ่งของจังหวัดพัทลุง นอกจากแกะให้หนังภายในจังหวัดแล้ว ยังแกะให้หนังต่างจังหวัดด้วย รูปของช่างรามได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศ แม้ถึงแก่กรรมไปประมาณ ๖๐ ปีแล้ว ชื่อเสียงของท่านทางศิลปะยังมีผู้คนกล่าวขานถึงอยู่ท่านเลียนแบบรูปภาพ เรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระแก้วเริ่มแรกก็แกะรูปที่ นำไปแสดงเรื่องรามเกียรติ์อย่างเดียวจึงได้ชื่อว่า"ช่างราม" ครั้งหนึ่งท่านส่งรูปหนุมานเข้าประกวด ดูผิวเผินสวยงามมาก หัวของวานร ต้องเกิดจากวงกลม แต่ของช่างรามไม่อยู่ในกรอบของวงกลม จึงไม่ได้รับรางวัล

การละเล่นพื้นเมืองที่ได้ชื่อว่า"หนัง" เพราะผู้เล่นใช้รูปหนังประกอบการเล่านิทานหลังเงา การแกะรูปหนังตัวสำคัญ เช่น ฤาษี พระอิศวร พระอินทร์ นางกินรี ยังคงเหมือนเดิม แต่รูปอื่นๆ ได้วิวัฒนาการไปตามสมัยนิยมของผู้คน เช่น ทรงผม เสื้อผ้า รูปหนังรุ่นแรกมีขนาดใหญ่รองจากรูปหนังใหญ่ฉลุลวดลายงดงามมาก เป็นรูปขาวดำ แล้วค่อยเปลี่ยนรูปให้มีขนาดเล็กลง ระบายสีให้ดูสะดุดตายิ่งขึ้น

สมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เคร่งครัดทางด้านวัฒนธรรมมาก ออกเป็นรัฐนิยมหลายฉบับ ยักษ์นุ่งกางเกงขายาว สวมหมวก รูปตลก รูปนาง รูปพระสวมหมวก สวมเสื้อ นุ่งกางเกง นุ่งกระโปรง รูปหนังที่ออกมาแต่งกายมีผิดวัฒนธรรม ตำรวจจะจับและถูกปรับทันที

การแกะรูปหนังสำหรับเชิดหนัง ให้เด่นทางรูปทรงและสีสัน เมื่อทาบกับจอผ้า แสงไฟช่วยให้เกิดเงาดูเด่นและสะดุดตา กรรมวิธีแกะรูปหนังแบบพื้นบ้านนำหนังวัวหนังควายมาฟอก ขูดให้เกลี้ยงเกลา หนังสัตว์ชนิดอื่นก็นิยมใช้บ้าง เช่น หนังเสือใช้แกะรูปฤาษีประจำโรงเป็นเจ้าแผง

ในปัจจุบัน รูปหนังแกะจากหนังวัวอย่างเดียว ซื้อหนังจากร้านค้าที่ฟอกสำเร็จรูปอยู่แล้ว ทั้งสามารถเลือกหนังหนา บาง ได้ตามความต้องการ นายช่างวางหนังลงบนพื้นเขียงที่มีขนาดใหญ่ ใช้เหล็กปลายแหลมวาดโครงร่าง และรายละเอียดของรูปตามที่ต้องการลงบนผืนหนัง ใช้แท่งเหล็กกลมปลายเป็นรูคม เรียกว่า "ตุ๊ดตู่" ตอกลายเป็นแนวตามที่ใช้เหล็กแหลมร่างไว้ ส่วนริมนอกหรือส่วนที่เป็นมุมเป็นเหลี่ยมและกนกลวดลายอันอ่อนช้อย ต้องใช้มีดปลายแหลมคมยาวประมาณ ๒ นิ้ว มีด้ามกลมรี พอจับถนัดมือขุดแกะ ทั้งตุ๊ดตู่และมีดขุดแกะมีหลายขนาด เมื่อทำลวดลายตามที่ร่างไว้เสร็จตัดออกจากแผ่นหนัง เรียกว่ารูปหนัง รูปใดนายช่างเห็นว่าได้สัดส่วนสวยงาม นายช่างจะเก็บไว้เป็นแม่แบบ เพียงแตะระบายสีให้แตกต่างกัน รูปที่นิยมเก็บไว้เป็นแบบ มีรูปเจ้าเมือง นางเมือง รูปยักษ์ รูปวานร รูปพระเอก รูปนางเอก นำรูปแม่แบบมาทาบหนัง แกะไปตามรูปแม่แบบ ประหยัดเวลา และได้รูปสวยงาม ผลิตได้รวดเร็ว สีที่ใช้ระบายรูปหรือลงสี นิยมใช้น้ำหมึก สีย้อมผ้า สีย้อมขนม มีสีแดง เหลือง แสด ชมพู ม่วง เขียว น้ำเงิน และสีดำ ต้องผสมสีหรือละลายสีให้เข้มข้น ใช่พู่กันขนาดต่างๆ จุ่มสีระบาย ต้องระบายเหมือนกันทั้ง ๒ หน้า ระวังไม่ให้สีเปื้อน สีซึมเข้าในเนื้อของหนังเร็ว ลบออกไม่ได้




ช่างแกะรูปต้องมีความรู้ประวัติที่มาของรูป ศึกษาแบบของรูป จากรูปจริง จากรูปภาพ การเปลี่ยนอิริยาบทของรูปได้อย่างถูกต้อง การเบิกตา เบิกปากรูปต้องใช้เวทมนต์ประกอบด้วย ที่สำคัญต้องมีสมาธิอย่างแน่วแน่ เศษหนัง ทำเป็นมือรูป ริมฝีปากล่าง อาวุธต่างๆ ใช้ร้อยมือให้ติดกันเป็น ๓ ท่อน เพื่อให้มือเคลื่อนไหวได้

เมื่อสีแห้งสนิทแล้ว ลงน้ำมันยางใส เพื่อให้รูปเกิดเงาวาววับ เดี๋ยวนี้หาน้ำมันยางไม่ได้ ใช้น้ำมันชักเงาแทน จากนั้นติดไม้ตับ ติดไม้มือ รูปที่ชักปากได้ ติดคันเบ็ดผูกเชือกชักปาก เป็นอันว่าเป็นรูปหนังที่สมบูรณ์ ช่างแกะรูปหนัง นอกจากแกะจำหน่ายแก่คณะหนังตะลุงแล้ว ยังแกะจำหน่ายทั่วไป เพื่อนำไปประดับประดา อาคารบ้านเรือน ชาวต่างชาตินิยมกันมาก แต่ต้องทำอย่างประณีต บรรจง จึงจะจำหน่ายได้ราคาดี ช่างแกะรูปหนังหาความร่ำรวยมิได้ เพียงแต่พอดำรงชีพอยู่ได้เท่านั้น
...............................................

ขั้นตอนและโอกาสในการแสดงหนังตะลุง
หนังตะลุงทุกคณะมีลำดับขั้นตอนในการแสดงเหมือนกันจนถือเป็นธรรมเนียมนิยม ดังนี้

๑.ตั้งเครื่อง

๒.แตกแผง หรือแก้แผง

๓.เบิกโรง

๔.ลงโรง

๕.ออกลิงหัวค่ำ เป็นธรรมเนียมของหนังในอดีต ลิงดำเป็นสัญลักษณ์ของอธรรม ลงขาวเป็นสัญลักษณ์ของธรรมะ เกิดสู้รบกัน ฝ่ายธรรมะก็มีชัยชนะแก่ฝ่ายอธรรม ออกลิงหัวค่ำยกเลิกไปไม่น้อยกว่า ๗๐ ปีแล้ว ช่วงชีวิตของผู้เขียนไม่เคยเห็นลิงดำลิงขาวที่สู้รบกันเลย เพียงได้รับการบอกเล่าจากผู้สูงอายุ ๙๐ ปีขึ้นไป

๖.ออกฤาษี หรือ ชักฤาษี



ฤาษี เป็นรูปครู มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องปัดเสนียดจัญไร และ ภยันตรายทั้งปวง ทั้งช่วยดลบันดาลให้หนังแสดงได้ดี เป็นที่ชื่นชมของคนดู รูปฤาษีรูปแรกออกครั้งเดียว นอกจากประกอบพิธีตัดเหมรยเท่านั้น

๗.ออกรูปพระอิศวร หรือรูปโค


รูปพระอิศวรของหนังตะลุง ถือเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเทพเจ้าแห่งความบันเทิง ทรงโคอุสุภราชหรือนนทิ หนังเรียกรูปพระอิศวรว่ารูปพระโคหรือรูปโค หนังคณะใดสามารถเลือกหนังวัวที่มีเท้าทั้ง 4 สีขาว โหนกสีขาว หน้าผากรูปใบโพธิ์สีขาว ขนหางสีขาว วัวประเภทนี้หายากมาก ถือเป็นมิ่งมงคล ตำราภาคใต้ เรียกว่า "ตีนด่าง หางดอก หนอกพาดผ้า หน้าใบโพธิ์"

โคอุสุภราชสีเผือกแต่ช่างแกะรูปให้วัวเป็นสีดำนิล เจาะจงให้สีตัดกับสีรูปพระอิศวร ตามลัทธิพราหมณ์พระอิศวรมี 4 พระกร ถือตรีศูล ธนู คฑา และ บาศ พระอิศวรรูปหนังตะลุงมีเพียง 2 กร ถือจักร และ พระขรรค์ เพื่อให้รูปกะทัดรัดสวยงาม

๘.ออกรูปฉะ หรือรูปจับ "ฉะ" หมายถึง การสู้รบระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ ยกเลิกไปพร้อมๆกับลิงหัวค่ำ

๙.ออกรูปรายหน้าบทหรือรูปกาศ ปราย หมายถึง อภิปราย กาศ หมายถึง ประกาศ


รูปปรายหน้าบท หรือ รูปกาศ หรือ รูปหน้าบท เสมือนเป็นตัวแทนนายหนังตะลุง เป็นรูปชายหนุ่มแต่งกายโอรสเจ้าเมือง มือหน้าเคลื่อนไหวได้ มือทำเป็นพิเศษให้นิ้วมือทั้ง 4 อ้าออกจากนิ้วหัวแม่มือได้ อีกมือหนึ่งงอเกือบตั้งฉาก ติดกับลำตัวถือดอกบัว หรือช่อดอกไม้ หรือธง

๑๐.ออกรูปบอกเรื่อง



รูปบอกเรื่อง คือรูปบอกคนดูให้ทราบว่า ในคืนนี้หนังแสดงเรื่องอะไร สมัยที่หนังแสดงเรื่องรามเกียรติ์เพียงเรื่องเดียว ก็ต้องบอกให้ผู้ดูทราบว่าแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนใด บอกคณะบอกเค้าเรื่องย่อๆ เพื่อให้ผู้ดูสนใจติดตามดู หนังทั่วไปนิยมใช้รูปนายขวัญเมืองบอกเรื่อง

๑๑.ขับร้องบทเกี้ยวจอ

๑๒.ตั้งนามเมืองหรือตั้งเมือง เริ่มแสดงเป็นเรื่องราว
















ตั้งนามเมือง เป็นการเปิดเรื่องหรือจับเรื่องที่จะนำแสดงในคืนนั้น กล่าวคือการออกรูปเจ้าเมืองและนางเมือง

โอกาสในการแสดงของหนังตะลุง เดิมหนังตะลุงนิยมแสดงเฉพาะในงานสมโภช เฉลิมฉลอง ไม่แสดงงานอัปมงคล เช่น งานศพ แต่ความเชื่อในเรื่องนี้หมดไป โอกาสแสดงของหนังตะลุงจะแนกออกได้ ๓ ประเภท ดังนี้

๑.งานบ้าน เช่น แก้เหมรย บวชนาค แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานศพ งานสระหัว งานทำบุญบ้าน สวดบ้าน

๒.งานวัด เช่น ฝังลูกนิมิต งานฉลองกุฏิวิหาร งานเทศกาลประจำปีของวัด งานชักพระ งานประเพณีทำบุญเดือนสิบ

๓.งานจัดรายการ ชาวบ้านเรียกว่างานสวนสนุก มีการแข่งขันประชันโรง เช่น งานแข่งขันกรีฑา งานมหกรรมหนังตะลุง งานปีใหม่ งานสงกรานต์ เอกชนเป็นผู้จัด เพื่อการค้ากำไรเป็นสำคัญ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๖ มีงานจัดรายการมากที่สุด ต้องแย่งชิงกันรับหนังที่มีชื่อเสียง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมว่างเว้นไม่ได้แม้คืนเดียว ส่วนเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม ภาคใต้ฝนตกชุก นักจัดรายการไม่กล้าเสี่ยง ช่วงระยะเวลาดังกล่าว หนังเกิดขึ้นใหม่หลายร้อยคณะทั่วทั้งภาคใต้ ในปัจจุบันมีเหลืออยู่ไม่เกิน 100 คณะ ล้วนแต่มีอายุล่วง 45 ปีไปแล้ว
.................................................................................

ตัวตลก
ตัวตลก หรือ รูปกาก มีความสำคัญในการแสดงหนังตะลุงมาก สามารถตรึงคนดูได้มีความผูกพันกับชีวิตของชาวบ้านมากกว่าตัวละครอื่นๆ หนังคณะหนึ่งๆ มีตัวตลกไม่น้อยกว่า 10 ตัวขึ้นไป พูดภาษาถิ่นใต้ การแต่งกายมักเปลือยท่อนบน หน้าตาจะผิดเพี้ยนจากคนจริงไปบ้าง แต่ละตัวมีเสียงพูดหรือสำเนียงโดยเฉพาะ ตัวตลกเอก นิยมนำหนังตีนของอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ มาทำเป็นริมฝีปากล่าง เพื่อให้เกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ปิดทองทั้งตัว ขนาดเชือกชักปากทำด้วยทองแบบสร้อยคอก็มี ตัวตลกมีเป็นจำนวนมาก เฉพาะตัวที่สำคัญมีดังนี้



.อ้ายเท่ง เอาเค้ามาจากชาวบ้านคนหนึ่ง ชื่อเท่ง อยู่บ้านคูขุด อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา หนังจวนบ้านคูขุดนำมาตัดรูปตลกเป็นครั้งแรก หนังคณะอื่นๆ นำไปเลียนแบบ รูปร่างผอมบางสูง ท่อนบนยาวกว่าท่อนล่าง ผิวดำ ปากกว้าง หัวเถิก ผมงอหยิก ใบหน้าคล้ายนกกระฮัง นิ้วมือขวายาวโตคล้ายอวัยวะเพศผู้ชาย นิ้งชี้กับหัวแม่มือซ้ายงอหยิกเป็นวงเข้าหากัน นุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุก คาดพุงด้วยผ้าขะม้า ไม่สวมเสื้อ ที่สะเอวเหน็บมีดอ้ายครก (มีดปลายแหลมด้านงอโค้งมีฝัก) ชอบพูดจาโผงผาง ไม่เกรงใจใคร ขู่สำทับผู้อื่น ล้อเลียนเก่ง เป็นคู่หูกับอ้ายหนูนุ้ย

.อ้ายหนูนุ้ย นำเค้ามาจากคนซื่อๆ แกมโง่ ผิวดำ รูปร่างค่อนข้างเตี้ย พุงยานโย้คอตก ทรงผมคล้ายแส้ม้า จมูกปากยื่นออกไป คล้ายกับปากวัว มีเครายาวคล้ายหนวดแพะ ใครพูดเรื่องวัวเป็นไม่พอใจ นุ่งผ้าโสร่งแต่ไม่มีลวดลาย ไม่สวมเสื้อ ถือมีดตะไกรหนีบหมากเป็นอาวุธ พูดเสียงต่ำสั่นเครือดันขึ้นนาสิก ชอบคล้อยตามคนยุยงส่งเสริม แสดงความซื่อออกมาเสมอ
.นายสีแก้ว เชื่อกันว่าเอาเค้ามาจากคนที่ชื่อสีแก้วจริงๆ เป็นคนมีตะบะ มือหนักโกรธใครตบด้วยมือหรือชนด้วยศรีษะ เป็นคนพูดจริง ทำจริง สู้คน ชอบอาสาเจ้านายด้วยจริงใจ ตักเตือนผู้อื่นให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามทำนองคลองธรรม รูปร่างอ้วนเตี้ย ผิวคล้ำ มีโหนกคอ ศรีษะล้าน นุ่งผ้าโจงกระเบนลายตาหมากรุก ไม่สวมเสื้อ ไม่ถืออาวุธใดๆ ใครพูดล้อเลียนเกี่ยวกับเรื่องพระ เรื่องร้อน เรื่องจำนวนเงินมากๆ จะโกรธทันที พูดช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ เพื่อนคู่หูคือนายยอดทอง
.นายยอดทอง เชื่อกันว่าเป็นชื่อคนจริงชาวจังหวัดพัทลุง รูปร่างอ้วน ผิวดำ พุงย้อยก้นงอนขึ้นบนผมหยิกเป็นลอน จมูกยื่น ปากบุ๋ม เหมือนปากคนแก่ไม่มีฟัน หน้าเป็นแผลจนลายคล้ายหน้าจระเข้ โครพูดถึงเรื่องจระเข้ไม่พอใจ นุ่งผ้าลายโจงกระเบน ไม่สวมเสื้อ เหน็บกริชเป็นอาวุธประจำกาย เป็นคนเจ้าชู้ ปากพูดจาโอ้อวด ใจเสาะ ขี้ขลาด ชอบขู่หลอก พูดจาเหลวไหล ยกย่องตนเอง บ้ายอ ชอบอยู่กับนายสาว ที่มีสำนวนชาวบ้านว่า "ยอดทองบ้านาย"
นายยอดทอง แสดงคู่กับตัวตลกอื่นๆ ได้หลายตัว เช่น คู่กับอ้ายหลำ คู่กับอ้ายขวัญเมือง คู่กับอ้ายพูนแก้ว คู่กับอ้ายดำบ้า คู่กับอ้ายลูกหมี คู่กับอ้ายเสมียน เป็นต้น

.อ้ายขวัญเมือง ไม่มีประวัติความเป็นมา เป็นตัวตลกเอกของหนังจันทร์แก้ว จังหวัดนครศรีธรรมราช คนในถิ่นนั้น เขาไม่เรียกว่าอ้ายเมือง แต่เรียกว่า "ลุงขวัญเมือง" แสดงว่าได้รับการยกย่องจากคนในท้องถิ่นอย่างสูงเหมือนกับเป็นคนสำคัญผู้หนึ่ง ใบหน้าของขวัญเมืองคล้ายแพะ ผมบางหยิกเล็กน้อย ผิวดำ หัวเถิก จมูกโด่งโตยาว ปากกว้าง พุงยานโย้ ก้นเชิด ปลายนิ้งชี้คล้ายนิ้วมืออ้ายเท่ง นุ่งผ้าพื้นดำ คาดเข็มขัด ไม่สวมเสื้อ เป็นคนซื่อ บางครั้งแฝงไว้ซึ่งความฉลาด ชอบสงสัยเรื่องของผู้อื่น พูดจาเสียงหวาน หนังจังหวัดสงขลาแสดงคู่กับอ้ายสะหม้อ หนังจังหวัดนครศรีธรรมราชแถวอำเภอเชียรใหญ่ หัวไทร ปากพนัง ท่าศาลา ให้แสดงคู่กับนายยอดทอง หนังพัทลุง ตรัง นิยมให้เป็นตัวบอกเรื่อง เฝ้าประตูเมือง ออกตีฆ้องร้องป่าว
.อ้ายสะหม้อ หนังกั้น ทองหล่อ นำมาจากคนจริง โดยได้รับอนุญาตจากชาวอิสลามชื่อสะหม้อ อยู่บ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หนังตะลุงอื่นๆ ที่นำไปเลียนแบบ พูดกินรูปสู้หนังกั้น ทองหล่อไม่ได้ รูปร่างอ้ายสะหม้อ หลังโกง มีโหนกคอ คางย้อย ลงพุง รูปร่างเตี้ย สวมหมวกแขก นุ่งผ้าโสร่ง ไม่สวมเสื้อ พูดล้อเลียนผู้อื่นได้เก่ง ค่อนข้างอวดดี นับถือศาสนาอิสลามแต่ชอบกินหมู ชอบดื่มเหล้า พูดสำเนียงเนิบนาบ รัวปลายลิ้น

.อ้ายปราบ เลียนแบบจากคนที่จมูกเป็นริดสีดวง จนจมูกยุบ ชอบกินแกงปลาไหล แกงปลาหมอ แกงตะพาบน้ำ ล้วนแสลงโรคริดสีดวงจมูกทั้งสิ้น ใครพูดจาเสียงอู้อี้เป็นโกรธทันที รูปร่างผอม นุ่งกางเกงขาสั้น ไม่สวมเสื้อ ตัดผมสั้นหวีแสกกลาง มือหนึ่งถือหวี มือหนึ่งถือกระจก เป็นคนชอบแต่งตัวหวีผมบ่อยๆ แม้เวลารบกัน ขอพักรบหวีผมให้เรียบร้อยก่อน ไม่เป็นคนเจ้าชู้ สนใจตัวเองมากกว่าผู้หญิง เป็นตัวตลกประกอบ

.ผู้ใหญ่พูน น่าจะเลียนแบบมาจากผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ จมูกยาวคล้ายตะขอเกี่ยวมะพร้าว ศรีษะล้าน มีผมเป็นกระจุกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางกลวงอยู่ กลางพุงโย้ย้อยยาน ตะโพกใหญ่ขวิดขึ้นบน เพื่อนมักจะล้อเลียนว่า บนหัวติดงวงถังตักน้ำ สันหลังเหมือนเขาพักผ้า (อยู่ระหว่างพัทลุง-ตรัง) นุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่มีลวดลาย ชอบยุยง โม้โอ้อวด เห่อยศ ขู่ตะคอผู้อื่นให้เกรงกลัว ธาติแท้เป็นคนขี้ขลาดตาขาว ชอบแสแสร้งปั้นเรื่องฟ้องเจ้านาย ส่วนมากเป็นคนรับใช้อยู่เมืองยักษ์หรือกับฝ่ายโกง พูดช้าๆ หนีบจมูก เป็นตัวตลกประกอบ

.อ้ายโถ เอาเค้ามาจากจีนบ๋าบา ชาวพังบัว อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา รูปร่าง มีศรีษะค่อนข้างเล็ก ตาโตถลน ปากกว้าง ริมฝีปากล่างเม้มเข้าใน ส่วนท้องตึง อกใหญ่เป็นรูปโค้ง สวมหมวกมีกระจุกข้างบน นุ่งกางเกงถลกขา ถือมีดบังตอเป็นอาวุธ ชอบร้องรำทำเพลง ขี้ขลาดตาขาว โกรธใครไม่เป็น ถือเอาเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ ใครจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม อ้ายโถจะชักเรื่องที่พูดวกเข้าหาเรื่องกินเสมอ เป็นตัวตลกประกอบ



.อ้ายแก้วกบ อ้ายลูกหมีก็เรียก เป็นตัวตลกเอกของหนังจังหวัดนครศรีธรรมราช รูปร่างอ้วน ปากกว้างคล้ายกบ ชอบสนุกสนาน พูดจากไม่ชัด หัวเราะเก่ง ชอบพูดคำศัพท์ที่ผิดๆ เช่น อาเจียนมะขาม (รากมะขาม) ข้าวหนาว (ข้าวเย็น) ชอบร้องบทกลอน แต่ขาดสัมผัส เพื่อคู่หูคือนายยอดทอง